xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เดชา ยังเปิดให้บริการ แจ้งผู้ประกันตนรักษา รพ.จุฬาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.เดชา ยังเปิดให้บริการปกติ แจ้งผู้ประกันตนไปรักษา รพ.จุฬาฯ ด้านผู้จัดการฝ่ายบุคคลเผยผิดหวัง บ.ศรีอยุธ ไม่เคยให้คำตอบชัดเจน พนักงานยังมาทำงานเพราะรัก รพ. วอนเร่งเคลียร์จ่ายเงินเดือน ด้าน สปส. จ่อย้ายผู้ประกันตน 40,000 คน ไป รพ.ราชวิถี - เลิดสิน ใน 16 พ.ค. แจงเอาเงินประกันสังคมจ่ายเป็นเงินเดือนไม่ได้

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลเดชา ถ.ศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.เดชา ยังคงเปิดให้บริการผู้ป่วยตามปกติ และมีผู้ป่วยเดินทางเข้ารับบริการรักษาฟอกไต การตรวจทั่วไป ซึ่งผู้มารับบริการระบุว่าทราบถึงปัญหาของโรงพยาบาลว่ามีการค้างเงินเดือนบุคลากร สำหรับผู้ที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม รพ.เดชา ประมาณ 50 คน ที่เดินทางมารับบริการ เจ้าหน้าที่ได้ทำการแจ้ง และให้ผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษาต่อที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ทั้งนี้ หลังจาก นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน มาชี้แจงกับพนักงาน ประมาณ 30 นาที กลุ่มผู้บริหาร รพ.เดชา นำโดย จ่าสิบเอก ชาญณรงค์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ศรีอยุธ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เช่าและบริหารกิจการ รพ.เดชา ได้เดินทางมาพบและใช้เวลาหารือร่วมกัน ก่อนเดินทางกลับไป

น.ส.วารุณี เจริญพงศ์นรา ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ศรีอยุธ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการค้างชำระเงินเดือนกับพนักงานในฝ่ายบุคคล กว่า 180 คน รวม 12,042,000 บาท ยืดเยื้อมากว่า 4 เดือนแล้ว ตั้งแต่ปลาย ธ.ค. 2558 สมัยผู้บริหารชุดเก่าคือ นายวีระนารถ วีระไวทยะ ล้มป่วย จนกระทั่งมีการสรรหาผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทน คือ จ่าสิบเอก ชาญณรงค์ และเกิดปัญหาค้างจ่ายเงินเดือน ทั้งนี้ เมื่อทวงถามทางบริษัท กับยกให้เป็นหน้าที่ของประกันสังคมเป็นผู้จ่ายเงินแทน เนื่องจากเงินประกันสังคมของบริษัท รวม 13 ล้านบาท ถูกนำไปจ่ายให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรณีการส่งต่อผู้ป่วย

“รู้สึกผิดหวัง เพราะไม่สามารถให้คำตอบอะไรที่ชัดเจนได้ ทั้งเรื่องของเงินค่าจ้าง รวมถึงอนาคตของพนักงานกว่า 179 คน ทั้งนี้ พนักงานทุกคนก็ต้องมาทำงานต่อไป เพราะไม่ได้มีคำสั่งให้หยุด และพนักงานทุกคนที่มาทำงานต่างรู้สึกรัก รพ. และอย่างให้ รพ. อยู่รอด ทั้งที่พบปัญหาการขาดสภาพคล่องมาตลอด บางครั้งต้องนำเงินส่วนตัวสำรองจ่ายไปก่อนให้กับบริษัทก็เคยทำมาแล้ว ทั้งนี้ ทางพนักงานเรียกร้องให้บริษัท ศรีอยุธ เร่งเคลียร์เอกสารทางกฎหมาย พร้อมจ่ายเงินกับพนักงาน เนื่องจากขณะนี้ทราบว่าจะมีกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มีการตัวแทนจากต่างชาติ สนใจมาลงทุนด้านสถานพยาบาล และต้องการซื้อกิจการ” น.ส.วารุณี กล่าว

น.ส.กมลพร พินิจ ผู้ช่วยฝ่ายโภชนาการ รพ.เดชา กล่าวว่า ส่วนตัวถูกค้างค่าจ้างรวมเกือบ 50,000 บาทเป็นระยะเวลา 4 เดือน แต่ยังคงมาปฏิบัติงาน เนื่องจากฝ่ายอาหาร หรือ โภชนาการ คือ หัวใจสำคัญของโรงพยาบาลที่ยังคงต้องให้บริการต่อเนื่อง ทั้งอาหารแบบแบบจาน และสายยาง แต่ละวันต้องมีการปรุงอาหารไม่น้อยกว่า 30 ที่ ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องของการค้างเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย โดยโรงพยาบาลมีบุคลากรทางการแพทย์ใน 5 สาขาหลัก คือ กุมารเวชศาสตร์ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ สูตินรีเวช รังสีวิทยา วิสัญญี และพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น 33 คน ซึ่งในบุคลากรทางการแพทย์หนึ่งคนทราบว่ามีการค้างเงินเดือนรวมสูงถึง 1,500,000 บาท

ด้าน นางชลอลักษณ์ แก้วพวง ผอ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.ได้มาติดตามปัญหาภายใน รพ. พบยังมีผู้ประกันตนมารับบริการ ซึ่งได้มีการชี้แจงไปว่า ขณะนี้ให้สามารถเดินทางไปรับบริการที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ได้ เนื่องจากได้มีการประสานไว้ ส่วนภายในวันที่ 16 พ.ค. นี้ จะเร่งปรับการบริหารและย้ายสิทธิผู้ประกันตนที่อยู่ใน รพ.เดชา รวมกว่า 40,000 คน ให้ไปอยู่ที่ รพ.ราชวิถี และ รพ.เลิดสิน แทน คาดว่า บัตรของผู้ประกันตนใหม่จะสามารถออกได้ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ ส่วนกรณีที่ทางบริษัทอ้างว่าให้นำเงินจากประกันสังคมมาจ่ายเป็นเงินเดือนนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นคนละส่วนกัน และมีไว้เพื่อใช้ดูแลกรณีการส่งต่อผู้ป่วย เทียบได้ก็เท่ากับงบประมาณรายหัว ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงสร้างการบริหารของโรงพยาบาลเดชา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2549 หลังจาก นพ.เดชา สุขารมณ์ ได้ขายกิจการให้กับบริษัท ศรีอยุธ จำกัด เนื่องจากต้องการทำงานทางการเมือง โดยมี นายวีระนารถ วีระไวทยะ เข้ามาบริหาร และเมื่อช่วงปลายปี 2558 นายวีระนารถได้ล้มป่วยลงและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559 จึงมีการเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่และเกิดปัญหาดังกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น