xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงานคงสัดส่วนจ้างงานผู้พิการตามเดิม 100 ต่อ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน หารือสถานประกอบการ คงสัดส่วนจ้างงานคนปกติ 100 คน ต่อผู้พิการ 1 คน ไว้ตามเดิม หวั่นไทยเสียภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ เล็งลดจำนวนวันคำนวณจาก 365 วัน เหลือ 313 วัน เตรียมชงเข้าคณะ กก.พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

วันนี้ (11 ก.ย.) นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอำนาจหน้าที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ และหน่วยงานรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2557 ได้มีการหารือกรณีสถานประกอบการเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยปรับสัดส่วนการจ้างงานผู้พิการจากปัจจุบันอยู่ที่จ้างงานคนปกติ 100 คนต่อผู้พิการ 1 คนเป็นจ้างงานคนปกติ 200 คนต่อผู้พิการ 1 คน นอกจากนี้ ยังขอให้ปรับวิธีการคำนวณการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการจากปัจจุบันคำนวณโดยนำค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่วันละ 300 บาท มาคูณด้วยจำนวน 365 วัน เป็นให้ลดค่าจ้างผู้พิการเหลือวันละ 150 บาท คูณด้วย 300 วัน

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ผลหารือข้างต้นที่ประชุมสรุปว่าให้คงสัดส่วนการจ้างงานคนปกติ 100 คนต่อผู้พิการ 1 คนไว้เช่นเดิม เนื่องจากเป็นส่วนสัดการจ้างงานผู้พิการที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียนอยู่แล้ว และบางประเทศมีการจ้างงานผู้พิการถึงร้อยละ 7 บางประเทศร้อยละ 5 หากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้สูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย รวมทั้งจะชี้แจงเหตุผลต่อสังคมและกลุ่มผู้พิการได้ยาก ซึ่งผู้แทนสถานประกอบการก็เข้าใจในเรื่องนี้

นายพีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของการปรับวิธีการคำนวณการส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการจากปัจจุบันคำนวณนั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถลดค่าจ้างผู้พิการให้เหลือเพียงวันละ 150 บาทได้ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงต้องคงไว้ที่วันละ 300 บาท แต่ในส่วนของจำนวนวันที่ขอให้ลดลงนั้น กระทรวงแรงงานได้พิจารณากฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วเห็นว่าสามารถลดให้อยู่ที่ 313 วันได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องของการลดจำนวนวันนั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการให้พิจารณาต่อไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น