xs
xsm
sm
md
lg

วาทกรรม “สายส่งไฟฟ้าเต็ม” ซ่อนเงื่อนมากกว่าเราที่เคยรู้ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “สายส่งเต็ม” อย่างน้อยก็จากปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้า นอกจากนี้ ท่านยังบอกว่า การลงทุนเรื่องสายส่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถจะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย เช่น โซลาร์เซลล์บนหลังคา รวมถึงโรงหีบน้ำมันปาล์มที่มีของเหลือใช้เป็นจำนวนมากในภาคใต้ได้ ทั้งๆ ที่การผลิตไฟฟ้าจากรายย่อยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และเป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่นายกฯ ชอบพูดถึงบ่อยๆ

ผมจะขอแบ่งเนื้อหาในบทความนี้ออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) แก้ต่าง วาทกรรม “สายส่งเต็ม” (2) การจัดลำดับความสำคัญในการป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งของประเทศเยอรมนี (3) เปรียบเทียบอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าไทย 7 โรง และ (4) พลังงานชีวมวลมีมากพอที่จะเป็นไฟฟ้าฐานได้

หนึ่ง แก้ต่างวาทกรรม “สายส่งเต็ม”

คำว่า “วาทกรรม” นักวิชาการอธิบายว่า เป็นการเชื่อมสิ่ง 3 สิ่งเข้าดัวยกัน คือ ความรู้ อำนาจ และความจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการครอบงำทางความคิดของคนในสังคม ทำให้ผู้สร้าง หรือผู้คิดค้นวาทกรรมมีอำนาจสามารถกระทำการบางอย่างได้อย่างชอบธรรมในความรู้สึกของสังคม

สายส่งไฟฟ้าก็เปรียบเสมือนถนน หรือท่อน้ำ สามารถรองรับจำนวนรถ หรือปริมาตรน้ำได้ในจำนวนจำกัด หากจำนวนรถมากเกินไปรถก็จะติด และหากพยายามอัดน้ำเข้าไปในท่อเยอะๆ ในเวลาอันจำกัดท่อก็จะแตก เรื่องสายส่งไฟฟ้าก็คล้ายกัน หากจะเพิ่มประสิทธิภาพก็ต้องเปลี่ยนขนาดลวดสายส่งซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ฟังดูเผินๆ ก็เป็นความจริงอย่างที่ท่านนายกฯ กล่าว แล้วส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ใช้อำนาจไม่รับซื้อไฟฟ้าจากรายย่อย โดยอาศัย ความรู้ที่ “เป็นความจริงไม่ครบ” หรือ “ไม่เป็นความจริง” นั่นเอง

ในบทความนี้ผมจะเรียนให้ทราบทั้งแนวนโยบาย และข้อมูลจริงของประเทศเยอรมนีที่แตกต่างไปจากวาทกรรม “สายส่งเต็ม” ดังกล่าว แต่มันแตกต่างกันในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ก่อนหลัง ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งสกปรก และผูกขาด และ พลังงานหมุนเวียนซึ่งสะอาด และกระจายอยู่ทั่วไป

แนวนโยบายของประเทศเยอรมนี เขามีการจำแนกพลังงานชนิดดี-เลวต่อสาธารณะระหว่างพลังงานสองชนิดอย่างชัดเจน เขาจึงเลือกให้ความสำคัญต่อพลังงานชนิดดี คือ พลังงานหมุนเวียนก่อน จึงได้ตราเป็นกฎหมายว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (คือ ชีวมวล น้ำ ลม และแสงแดด) ให้สามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน”

เมื่อไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถขยายสู่ระบบสายส่งได้ โดยไม่จำกัดจำนวน ตามศักยภาพของแต่ละชนิดแล้ว หากยังไม่พอต่อความต้องการใช้ จึงจะอนุญาตให้พลังงานฟอสซิลป้อนเข้าสู่ระบบสายส่งได้จนครบตามความต้องการซึ่งก็มีจำนวนแปรเปลี่ยนตามเวลาตลอด 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี

นี่คือวิธีการปฏิบัติ และความจริงที่ได้ซ่อนอยู่ในวาทกรรม “สายส่งไฟฟ้าเต็ม” แต่นายกฯ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้บอกต่อสังคมไทยให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญคือ การจำแนกความเป็นมิตรต่อความเป็นพิษภัย

แต่ประเทศไทยเราไม่ได้มีแนวนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ผู้ทำแผนจึงได้จัดทำแผนระดับประเทศที่เรียกว่าแผนพีดีพี เพื่อให้ผู้ผลิตจากพลังงานฟอสซิลสามารถป้อนไฟฟ้าได้ก่อนจนเต็มสายส่ง จึงไม่มีที่ว่างเหลือให้แก่ผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ และชีวมวลรายย่อยอื่นๆ

นี่คือการซ่อนเงื่อนระดับแรกที่ผมทราบมานานแล้ว และได้พยายามเขียนเพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็นั่นแหละครับ จะมีคนได้อ่านสักกี่คนกัน แต่คราวนี้ ผมได้พบการซ่อนเงื่อนที่ลึกกว่านั้นอีก เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ

สอง การจัดลำดับความสำคัญในการป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งของประเทศเยอรมนี

ตารางข้างล่างส่วนหนึ่งผมได้ข้อมูลดิบมาจาก https://www.agora-energiewende.de/en/topics/-agothem/Produkt/produkt/76/Agorameter/ ซึ่งนำเสนอเป็นแบบ Real Time 
 

 
คอลัมน์แรกเป็นประเภทเชื้อเพลิง คอลัมน์ที่สอง เป็นกำลังการผลิตติดตั้งซึ่งรวมทั้งหมด 1.8 แสนเมกะวัตต์ (ของประเทศไทยทั้งหมดมีประมาณ 4 หมื่นเมกะวัตต์) ในขณะที่โซลาร์เซลล์ หรือแสงแดดอย่างเดียวของเยอรมนีก็เกือบ 4 หมื่นเมกะวัตต์

คอลัมน์ที่สามเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้โปรดสังเกตว่า พลังงานจากชีวมวลซึ่งหมายถึงพลังงานที่ได้จากพืช ของเหลือจากการเกษตร และมูลสัตว์ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 8 พันโรง และเป็นขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ 5.7 หมื่นล้านหน่วย หรือประมาณ 30% ของไฟฟ้าที่คนไทยทั้งประเทศใช้

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเรามีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศเยอรมนี อากาศก็เหมาะต่อการเติบโตของพืชมากกว่า แต่คนไทยเราถูกครอบงำทางความคิดว่า ชีวมวล และแสงแดด มีน้อย นำมาเป็นพลังงานหลักไม่ได้ แล้วจึงต้องใช้พลังงานฟอสซิลที่พ่อค้าบางกลุ่มเป็นผู้ผูกขาดผู้มีอำนาจอนุญาตก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน

สำหรับคอลัมน์ขวามือสุด คือ “อัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate)” อย่าเพิ่งตกใจ ง่ายนิดเดียวครับคือ คิดจากในช่วงเวลา 1 ปี หรือ 8,760 ชั่วโมง ว่าโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดผลิตไฟฟ้าได้กี่หน่วย (Kilowatt-hour) ในที่นี้พลังงานชีวมวล ขนาด 8,860 เมกะวัตต์ ผลิตรวมกันได้ 56,570 ล้านหน่วย โดยเฉลี่ยแล้วคิดเป็นร้อยละของการใช้ประโยชน์ 72.9% พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลเดินเครื่องเต็มที่นานถึง 72.9% ของเวลาทั้งปี

โปรดสังเกตว่า (1) โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 12 ของเวลาทั้งหมดเท่านั้นเอง เพราะต้องให้พลังงานหมุนเวียนขายก่อน และ (2) แสงแดดสามารถใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 10.5 หรือประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน แต่เขาสามารถผลิตได้ถึงเกือบ 4 หมื่นล้านหน่วย หรือ 20% ของที่ประเทศไทยใช้ทั้งประเทศ

จากตารางข้างต้น เราพอจะเห็นการจัดลำดับความสำคัญพลังงานต่างๆ ของประเทศเยอรมนีกันบ้างแล้ว แต่เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้นแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ผมได้นำเสนออีกภาพหนึ่งพร้อมกับอธิบายสั้นๆ อยู่ในภาพนั่นแหละครับ
 

 
สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ (1) ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงถึงบ่ายสองโมง พลังงานหมุนเวียนมีส่วนร่วมมากกว่าครึ่งของพลังงานทั้งหมด (2) การผลิตด้วยพลังงานชีวมวลนั้น ไม่ใช่มีจำนวนน้อยตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการบางคนได้พยายามบอกต่อสังคมไทย แต่มีขนาดรวมกันถึง 5,139 เมกะวัตต์ โดยที่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และตลอดทั้งปี คิดเป็นพลังงานก็ 5.66 หมื่นล้านหน่วยต่อปี

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันยังสามารถทำหน้าที่เป็นไฟฟ้าฐานให้แก่ประเทศได้ตลอดเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง

สาม เปรียบเทียบอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าไทย 7 โรง

คราวนี้มาถึงเรื่องการซ่อนเงื่อนในระดับลึกกว่าที่เราเคยรู้ ดังที่ผมได้เกริ่นมาบ้างแล้ว ผมได้สรุปพร้อมอ้างอิงแหล่งข้อมูลเอาไว้ในตารางเรียบร้อยแล้วครับ ผมอ้างถึงโรงไฟฟ้า 7 โรงมาประกอบการพิจารณา

อย่าลืมนะครับ ตัวชี้วัดของผมคือ อัตราการใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นตัวบอกว่าในรอบ 1 ปี โรงไฟฟ้าเดินเครื่องอย่างเต็มกำลัง หรือเต็มประสิทธิภาพได้คิดเป็นร้อยละเท่าใดของเวลาทั้งปี นักเทคนิคอาจจะแย้งว่า ตัวชี้วัดนี้ไม่เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่ผมขอเรียนว่า เป็นตัวชี้วัดที่ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อน คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย หลายองค์กรก็ใช้ก็ใช้ตัวชี้วัดตัวนี้

จากตาราง ในปี 2552 (ข้อมูลล่าสุดที่ผมหาได้) โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 ซึ่งเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีอัตราการใช้ประโยชน์เพียง 64.8% เท่านั้น ในขณะที่ในปี 2558 โรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งเป็นของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 100% (โดย กฟผ.ถือหุ้น 25.4% หรือ 1 ใน 4) มีอัตราการใช้ประโยชน์ถึง 72.8%
 

 
นอกจากนี้ จากข้อมูล (http://www.khanom.egco.com/th/our_power_plant_souther_thailand.php) พบว่า สายส่งที่เชื่อมระหว่างภาคกลาง-ภาคใต้ มีอัตราการใช้ประโยชน์ในปี 2552 เพียงร้อยละ 36.7 เท่านั้น ผมเข้าใจดีครับว่า สายส่งที่เชื่อมสองภาคนี้มีความจำเป็นอย่างมากต่อภาคใต้ แต่อัตราการใช้ประโยชน์โดยรวมเพียงเท่านี้ ไม่น่าจะนับว่าเป็นการจัดการที่เหมาะสมที่สุด

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (รายการที่ 3) ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (50%) และบริษัท บ้านปู จำกัด (50%) หรือ กฟผ.ถือหุ้น 1 ใน 8 โรงนี้ใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย มีอัตราการใช้ประโยชน์สูงถึงร้อยละ 85.8

ในตาราง รายการที่ 6 พบว่า พลังงานลมในจังหวัดชัยภูมิ ก็ไม่ได้ขี้เหล่เลยครับ (ถ้าไม่เวอร์) คือ มีอัตราการใช้ประโยชน์ที่ไม่น้อยกว่าประเทศเยอรมนีมากนัก และเท่าที่ผมทราบ จังหวัดชัยภูมิไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพพลังงานลมมากที่สุดของประเทศไทย

มาดูรายการที่ 7 พลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดลพบุรี อัตราการใช้ประโยชน์สูงกว่าประเทศเยอรมนีถึง 2 เท่า โดยได้รับราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงถึงหน่วยละ 8 บาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าที่ขายได้ 3-4 บาทต่อหน่วย แล้วเป็นราคา 11-12 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ประเทศเยอรมนี เขาจ่ายให้ผู้ผลิตขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพียงหน่วยละ 3.40 บาท เท่านั้น โปรดอ่านอีกครั้ง “เพียงหน่วยละ 3.40 บาทเท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังพบว่าจากข้อมูลบริษัท โดยเฉลี่ยโซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2,061 หน่วย มากที่สุดในโลกเท่าที่ผมเคยทราบ ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เวอร์ไปหรือเปล่า

สี่ พลังงานชีวมวลมีมากพอที่จะเป็นไฟฟ้าฐานได้

จากตาราง อัตราการใช้ประโยชน์จากชีวมวลที่จังหวัดยะลา สูงถึง 81% สูงกว่าในเยอรมนีเสียอีก โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งหนึ่งที่ใช้เศษเหลือจากทะลายปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่ สามารถผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงติดต่อกันถึง 300 วัน หรือมีอัตราการใช้ประโยชน์ถึง 82% โดยใช้เวลา 5-7 ปี ก็สามารถคุ้มทุนได้

นี่คือการตอกย้ำว่า ชีวมวลสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไฟฟ้าฐานได้สบายๆ ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตให้ติดตั้งกันเยอะๆ

เพื่อเป็นการตอกย้ำอีกรอบหนึ่ง ผมได้นำผลการศึกษาของ Boston Consulting Group ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาให้ประเทศสเปน ผลการศึกษารับประกันว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถป้อนสายส่งไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมงต่อวัน
 

 
โดยสรุป ผมได้แก้ต่างวาทกรรม “สายส่งเต็ม” แล้วครบทุกประเด็น พร้อมกับหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งเชิงนโยบาย และข้อมูลจริง ทั้งในประเทศเยอรมนี และประเทศเราเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารอ้างอิง สิ่งที่อยากจะขอร้องต่อท่านผู้อ่านทุกท่านก็คือ ถ้าเห็นด้วยกับที่ผมเขียน กรุณาช่วยกันสื่อสารให้กว้างขวางจนเกิดเป็นมวลวิกฤตเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเริ่มต้นจากพลเมืองที่ตื่นรู้ ไม่ใช่รัฐบาล หรือข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น