xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! จากไทยถึงญี่ปุ่น พลิกแฟ้มคดีดังประหารเยาวชนโฉด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรณีกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายชายพิการจนเสียชีวิตเป็นคดีสะเทือนขวัญและท้าทายกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยที่ญี่ปุ่นก็เคยมีคดีดังที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือเยาวชนโฉดเช่นเดียวกัน และสุดท้ายศาลได้ตัดสินโทษประหารชีวิต

ญี่ปุ่นถึงแม้จะยังคงมีโทษประหารชีวิต หากแต่การตัดสินประหารชีวิตเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น เนื่องจากกระแสวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ว่าความตายเป็นการรักษาเกียรติ์อย่างหนึ่งของนักรบ

กฎหมายของญี่ปุ่นระบุว่า“โทษประหารจะถูกใช้กับอาชญากรรมที่มีความร้ายแรง โดยเฉพาะการฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตหลายราย มีความเหี้ยมโหด ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง หรือคนร้ายมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน”  ดังนั้น การฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายจะไม่ค่อยถูกตัดสินประหารชีวิตในญี่ปุ่น โดยเฉพาะหากผู้กระทำผิดเป็นเยาวชนด้วยแล้ว โทษประหารมักจะถูกละเว้นไว้

อย่างไรก็ตาม มีคดีสะเทือนขวัญคดีหนึ่งซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนอายุ 18ปี ก่อเหตุฆ่าและข่มขืนหญิงสาวและลูกน้อยวัยทารกอย่างโหดเหี้ยม และสุดท้ายศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินลงโทษ “ประหารชีวิต”

คดีสะเทือนขวัญเมืองฮิคาริ

วันที่ 14เมษายน ปี 1999 นายทะคะยูกิ โอซุกิ (ชื่อเดิมขณะก่อเหตุ คือ ทะคะยูกิ ฟุกุดะ )เด็กหนุ่มวัย 18ปี 1เดือน ปลอมตัวเป็นช่างซ่อมท่อประปาเข้าไปในบ้านครอบครัวโมะโตะมุระ ที่เมืองฮิคาริ จังหวัดยามะกุชิ หลังจากเข้าไปในบ้านได้นายโอซุกิได้พยายามกระทำชำเรา หญิงสาววัย 23 ปีซึ่งอยู่บ้านเพียงลำพังพร้อมลูกน้อยวัย 11 เดือน แต่เมื่อหญิงสาวขัดขืน วัยรุ่นโฉดจึงได้ใช้มีดเชือดคอคุณแม่วัยสาวจนเสียชีวิต จากนั้นยังลงมือข่มขืนศพของผู้เสียชีวิตด้วย

ในระหว่างปฏิบัติการเหี้ยมนั้น ลูกน้อยวัยทารกของหญิงสาวร้องไห้ไม่หยุด นายโอซุกิจึงจับเด็กน้อยทุ่มลงกับพื้นหลายครั้งและใช้เชือกรัดคอจนตาย หลังจากนั้นจึงนำศพ 2แม่ลูกไปซ่อนไว้ในตู้เก็บผ้าห่ม และยังขโมยทรัพย์สินเงินสดในบ้านก่อนที่จะเผ่นหนีไป

คุณพ่อโมะโตะมุระกลับมาถึงบ้านแทบใจสลาย เมื่อพบว่าภรรยาและลูกน้อยถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม จึงได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ และเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายโอซุกิได้ในอีก 4วันต่อมา
นายทะคะยูกิ โอซุกิ เยาวชนโฉดผู้ก่อคดีโหดที่เมืองฮิคาริ
ทนายแก้ต่างสุดพิสดาร ชาวบ้านรับไม่ได้

นายโอซุกิรู้ดีว่าตามกฎหมายของญี่ปุ่นแล้ว เยาวชนไม่ต้องรับโทษประหาร ยิ่งหากแสดงความสำนึกผิดด้วยแล้ว ก็อาจได้ลดโทษเหลือจำคุกเพียง 7-8 ปีเท่านั้น โดยทนายความที่แก้ต่างให้เยาวชนโหดรายนี้อ้างว่า นายโอซุกิขาดแคลนความรักจากแม่ ทำให้มีปมด้อยทางจิตใจจึงได้ก่อเหตุขึ้น โดยอ้างว่าต้องการเพียงแค่สวมกอดหญิงสาว ไม่มีเจตนาข่มขืนและฆ่า ส่วนลูกสาววัยทารกนั้นก็เพียงแต่ใช้เชือกรัดเพื่อให้หยุดร้องไห้ ไม่ได้ตั้งใจฆ่าเช่นกัน

ทนายของผู้ต้องหายังอ้างด้วยว่า นายโอซุกินำศพของสองแม่ลูกไปซ่อนไว้ตู้เก็บผ้าห่มนั้น เพราะเขาเชื่อว่าตู้เก็บผ้าห่มเป็นที่นอนของโดราเอมอน และแมวมหัศจรรย์จะช่วยคลี่คลายปัญหาให้

คำแก้ต่างสุดพิสดารของทนายความสร้างความไม่พอใจให้กับชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก จนถึงกับมีคนรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนใบอนุญาตวิชาชีพของทนายความของเยาวชนโฉดรายนี้

สาธารณชนเรียกร้องโทษประหาร

พฤติกรรมโฉดของเยาวชนรายนี้ทำให้อัยการญี่ปุ่นร้องขอต่อศาลให้ลงโทษประหารชีวิต โดยให้รอลงอาญาไว้จนกว่านายโอซุกิจะอายุครบ 20 ปีจึงนำตัวไปรับโทษ อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นจังหวัดยามะกุชิและศาลสูงจังหวัดฮิโรชิมะได้ตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต

หากแต่สาธารณชนจำนวนมากรู้สึกว่า เยาวชนโหดรายนี้ไม่สมควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไปจึงเกิดเสียงเรียกร้อง และทำให้อัยการต้องอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแห่งญี่ปุ่น

ไร้สำนึก หวังเพียงรอดโทษประหาร

อัยการได้เปิดเผยหลักฐานว่านายโอซุกิไม่เคยสำนึกในการกระทำชั่วของตนเอง โดยเขาได้เขียนจดหมายจากในคุกระบุว่า “หมาตัวผู้ตัวหนึ่งเห็นหมาตัวเมียเดินผ่านมา จึงอดใจไม่ไหวขึ้นไปคร่อม...นี่ถือเป็นความผิดอาญาหรือ?”

และหลังจากศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เยาวชนใจเหี้ยมยังเขียนจดหมายอีกฉบับ มีข้อความว่า “โลกนี้คนโฉดคือผู้ชนะ รออีก 7-8ปีออกจากคุก พวกแกต้องจัดงานเลี้ยงใหญ่ต้อนรับข้า”

10ปีแห่งความปวดร้าว

พฤติกรรมไร้สำนึกของนายโอซุกิสร้างความเดือดดาลกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำให้อัยการและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ต่อสู้คดีมาตลอด จนกระทั่งปี 2008 ศาลสูงจังหวัดฮิโรชิมะได้มีมติกลับคำพิพากษาตัดสินโทษประหารชีวิต และศาลฎีกาแห่งญี่ปุ่นก็มีมติยืนยันโทษประหารในปี 2012

อย่างไรก็ตาม นายโอซุกิยังพยายามดิ้นรนต่อสู้โดยอ้างว่ามีปัญหาทางจิต ประกอบกับการนำตัวไปประหารต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเสียก่อน เยาวชนเหี้ยมรายนี้จึงยังคงถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำจังหวัดฮิโรชิมะจนถึงทุกวันนี้

จากคดีสะเทือนขวัญสู่ละครดัง

ความทุกข์ระทมของครอบครัวโมะโตะมุระ ได้ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือชื่อว่า “เหตุใดเขาจึงต่อสู้กับความสิ้นหวัง 3300 วัน” เป็นหนังสือที่เสียงน้ำตาจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ และได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง

หลังจากนั้นในปี 2010 เรื่องราวในหนังสือยังถูกถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์ และได้รับรางวัลจากกระทรวงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นด้วย

ภายใต้วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ถือว่า “ชีวิตคือสิ่งมีค่า” การตัดสินโทษประหารชีวิตจึงเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกิดขึ้น นักโทษประหารหลายรายจึงยังคงมีชีวิตในคุกอีกนานหลายปีโดยไม่รู้ว่าจะถูกนำตัวไปแขวนคอเมื่อไร การรอความตายนั้นอาจจะทุกข์ทรมาน แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับความทุกข์ทนของครอบครัวผู้สูญเสีย.

กำลังโหลดความคิดเห็น