xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยของกระทรวงพลังงานที่รัฐบาล คสช.ยังไม่เห็น! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
 
ในช่วงเกือบ 10 ปีมานี้ ได้เกิดกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจากคนในพื้นที่ในทุกพื้นที่ที่มีโครงการ ที่กำลังเป็นข่าวคราวอยู่ในปัจจุบันก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา

กล่าวเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาเพื่อศึกษาตามข้อเรียกร้องของ “เครือข่ายปกป้องอันดามัน” ที่ว่า ขอเวลา 3 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าชาวจังหวัดกระบี่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานหมุนเวียนได้ 100% หากไม่สามารถพึ่งตนเองได้ พวกเขาก็จะยินยอมให้รัฐบาลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

คณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ว่า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เครือข่ายปกป้องอันดามัน และฝ่ายข้าราชการกระทรวงพลังงาน โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน ผมเองเป็นหนึ่งในกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่อจากเครือข่ายปกป้องอันดามัน

ขณะนี้ผลการศึกษาของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ที่ผมรู้สึกแปลกใจมากก็คือ ทำไมกระทรวงพลังงาน จึงไม่ได้นำผลงานศึกษาวิจัยที่ตนเองได้ทำไว้ก่อนมาใช้ประโยชน์ เท่าที่ผมทราบมีอย่างน้อย 1โครงการ คือ “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย” ซึ่งเป็นงานสำรวจที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2555 โดยการว่าจ้างมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ศึกษา ผู้ว่าจ้าง ก็คือ ฝ่ายวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

พื้นที่ที่มีการสำรวจ คือ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 14 จังหวัดภาคใต้ (หมายเหตุ ไม่มีภาคกลาง) พืชที่ศึกษามีหลายชนิด แต่ในที่นี้ผมจะเล่าเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีพืชสำคัญคือ ของเหลือใช้จากปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ผมได้ตัดภาพรายงานวิจัยและข้อสรุปบางส่วน (ที่ผมเชื่อมโยงกับการนำเข้าถ่านหิน) มาให้ดูด้วยครับ
 

 
งานศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ต้นปาล์มที่หมดอายุแล้วมีจำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี ซึ่งโดยปกติก็มักจะปล่อยให้เน่าเปื่อยไปเอง แต่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 603.9 ล้านหน่วยต่อปี

จากข้อมูลของ U.S. Energy Information Administration พบว่า ถ่านหิน 1 ตัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,128 หน่วย เมื่อคิดเป็นมูลค่าของต้นปาล์มแก่ดังกล่าวก็ประมาณปีละ 800 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าไม่มีการนำเข้าถ่านหิน ต้นปาล์มแก่ดังกล่าวก็จะมีมูลค่าถึง 800 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ รายงานวิจัยของกระทรวงพลังงานชิ้นนี้ยังได้ข้อสรุปว่า ทางปาล์ม และใบปาล์มใน 14 จังหวัดภาคใต้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,029 ล้านหน่วยต่อปี ดังนั้น ถ้าเราไม่มีการนำเข้าถ่านหิน แล้วนำทางปาล์มมาใช้แทนก็จะมีมูลค่าถ่านหินประมาณ 1,023 ล้านบาท

แค่ 2 รายการดังกล่าวก็มีมูลค่ารวมกันประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้แทนที่จะไหลออกไปต่างประเทศ ก็จะหมุนอยู่กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรที่กำลังเจอกับมรสุมชีวิตจากปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ดินถล่ม เป็นต้น

นี่เป็นเพียงของเหลือจากส่วนของต้นปาล์มแก่ รวมกับทางปาล์ม และใบเท่านั้น (ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์เลย) ยังไม่รวมน้ำเสียที่เกิดจากหีบน้ำมันปาล์มซึ่งหากปล่อยทิ้งไปก็จะเป็นก๊าซเรือนกระจก และน้ำเสียที่ถูกปล่อยไปทำลายแหล่งอาศัยของกุ้ง หอย ปู ปลา ยังไม่รวมตอไม้ยางพารา ขี้หมู ตลอดจนไม้โตเร็วตามหัวไร่ปลายนาอีกเป็นจำนวนมาก

ผมอยากทราบเหมือนคนไทยผู้เสียภาษี และจ่ายเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน (เพื่อนำไปทำงานวิจัยชิ้นนี้) ว่า กระทรวงพลังงาน ได้จ่ายเงินไปเป็นจำนวนเท่าใด แต่ทำไมจึงไม่ยอมนำมาใช้ประโยชน์เมื่อถึงคราวจำเป็น

อนึ่ง ผมเข้าใจว่าศักยภาพของพลังงานชีวมวลที่งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ศึกษา (เริ่มศึกษาปี 2548) น่าจะยังเป็นเทคโนโลยีเก่า มาวันนี้เทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากแล้ว นั่นคือ การใช้เชื้อเพลิงจำนวนเท่าเดิมแต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว

แน่นอนครับ ว่า จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม แต่มันก็คุ้มเมื่อเทียบกับการไม่ต้องนำเข้าถ่านหิน แต่ใช้เชื้อเพลิงที่หาได้เองภายในประเทศ รายได้ก็ตกแก่ชาวบ้าน ใช้แล้วไม่มีวันหมด และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชาวบ้านด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ไปบรรยายเรื่อง “สถานการณ์และทิศทางการจัดการพลังงาน” พร้อมทั้งเป็นผู้ร่วมประเมินความก้าวหน้าของโครงการวิจัย จำนวน 7 โครงการ

ในการบรรยายผมได้เปรียบเทียบนโยบายด้านพลังงานของ 2 ประเทศ โดยยกเอาหมู่บ้านเล็กๆ 2 หมู่บ้านในประเทศไทย และประเทศเยอรมนี พบว่า หมู่บ้านทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนีสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งได้แก่ แสงแดด ชีวมวล กังหันลม) ได้มากกว่า 5 เท่าของที่ตนเองใช้ สามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือคิดเป็นมูลค่าปีละ 182 ล้านบาท 
 

 
ในขณะที่หมู่บ้านดงอุดม ต.ดงพยุง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีประชากร 428 คน จำนวน 108 ครอบครัวต้องจ่ายค่าพลังงานปีละ 1.9 ล้านบาท (ข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น) ในจำนวนนี้เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 0.88 ล้านบาท (เดือนละ 680 บาทต่อครัวเรือน) ค่าไฟฟ้า 0.43 ล้านบาท (เดือนละ 330 บาทต่อครัวเรือน) ค่าก๊าซหุงต้ม 0.35 ล้านบาท (เดือนละ 269 บาทต่อครัวเรือน) และค่าถ่าน และฟืนเดือนละ 203 บาทต่อครัวเรือน

นี่แค่ปีเดียวนะครับ ถ้าเป็นเวลานานหลายปี ชาวไทยก็ยิ่งจะจนลงๆ ส่งผลให้ครัวเรือนของไทยในสถานการณ์ปัจจุบันมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก หากต้องจ่ายดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 10 ต่อปีก็เป็นการยากที่จะใช้หนี้ได้หมดตลอดชีวิต ดังข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 
 

 
ความแตกต่างของ 2 หมู่บ้านนี้มาจากนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ชาวบ้านขายไฟฟ้าได้ โดยอ้างว่า “สายส่งไฟฟ้าเต็ม” แต่ประเทศเยอรมนี เขาให้ความสำคัญพลังงานหมุนเวียนก่อน ถ้าไม่พอจึงจะให้พลังงานสกปรก หรือพลังงานฟอสซิลสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสายส่งได้

ผมได้จำแนกประเภทพลังงานออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ชาวบ้านผลิตเองไม่ได้ ต้องซื้ออย่างเดียว กับประเภทที่ชาวบ้านสามารถผลิตเอง และขายเองได้ แต่กลับมีกฎหมายห้ามขาย ดังรูป
 

 
เมื่อชาวบ้านมีหนี้สินมาก ทางราชการไทยก็ปล่อยวาทกรรมว่า “เป็นหนี้เพราะติดสุรา ติดหวย” แต่ผมว่า ชาวเยอรมันดื่มสุรามากกว่าคนไทย แต่ทำไมคนเยอรมันจึงไม่มีหนี้สินมากเหมือนคนไทย

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยเราเองมีปัญหาเรื่องไฟป่า ผมได้เสนอแนวคิดของประเทศสเปน คือ การดึงกิ่งไม้หัก ร่วง ในป่าออกมาทำเป็นพลังงานชีวมวลแล้วก็สามารถลดความรุนแรงของไฟป่าได้ด้วยวิธีการง่ายๆ แต่ได้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
 

 
ประเด็นสำคัญที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นำมาอ้างในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็คือ ไฟฟ้าฐาน (Base Load) ซึ่งหมายถึง “เป็นโรงจักรที่ต้องเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง มีกำลังผลิตมากเพียงพอสำหรับความต้องการไฟฟ้าที่ต่ำสุดในระบบ” 

แต่จากข้อมูลการผลิตจริงของประเทศเยอรมนี (วันที่ 15-17 พ.ค.59) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนเกือบ 8 พันโรง (ขนาด 0.5 ถึง 1.0 เมกะวัตต์) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถทำหน้าที่เป็นไฟฟ้าฐานได้ถึง 5,175 เมกะวัตต์ ตลอด 72 ชั่วโมง ดังภาพประกอบ

ถ้าคิดเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากชีวมวลในช่วง 3 วันนี้ พบว่า มีปริมาณเท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ชาวกระบี่ทั้งจังหวัดใช้ได้นานถึง 6 เดือน (คิดเฉพาะพลังงานนะครับ) มันไม่ใช่น้อยเลย

จากการลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ของคณะอนุกรรมการ 3 ฝ่ายบางคณะ พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลจากของเหลือจากปาล์มแห่งหนึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอด 300 วันได้ เจ้าของโรงงานอ้างว่า รายได้จากการขายไฟฟ้านำมาเพิ่มราคารับซื้อผลปาล์มเพิ่มขึ้นอีก 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับราคารับซื้อจากโรงงานอื่นที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า
 

 
และที่สำคัญพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวมีความสม่ำเสมอ เสถียรเข้าระดับมาตรฐานประเทศเยอรมนีทุกประการ แต่ทำไมทาง กฟผ.และนักเทคนิคบางส่วนของไทยจึงรังเกียจกันหนักหนา

ในรูปข้างต้น โปรดสังเกตว่า ในช่วงเที่ยงวันถึงประมาณบ่าย 2 ของบางวัน พลังงานหมุนเวียนเข้ามามีบทบาทถึง 81% ของพลังงานทั้งหมด ที่เหลือจึงเป็นพลังงานฟอสซิลที่กฎหมายอนุญาตให้ขายได้เมื่อพลังงานสะอาดไม่พอ

ผมได้สรุปการบรรยายด้วยการเปรียบคนไทยกับแพะ ในสถานการณ์ปัจจุบันคนไทยถูกขังอยู่ในคอก ถูกบังคับให้กินอาหารที่พ่อค้าเท่านั้นที่ผลิตได้ คอกก็คือ กฎหมาย หญ้าก็คือ พลังงาน และคนไทยเราก็คือ แพะในคอก แพะจะกินหญ้าชนิดอื่นที่อยู่นอกคอกไม่ได้ เราจึงต้องมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานเพื่อคนไทยเราจะได้มีโอกาสใช้พลังงานที่เป็นมิตร และปรองดองกับธรรมชาติ และจะได้ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเหมือนที่ผ่านๆ มา
 

 
ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเมืองชาวเยอรมันที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายพลังงานได้สรุปว่า มนุษย์ได้ยึดคุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์ คือ (1) ความเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสใคร และ (2) ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เราจะมีความสมบูรณ์ตามคุณค่าหลักทั้ง 2 ได้ ก็โดยการหันกลับมาใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น ถ้ายังใช้พลังงานฟอสซิลจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้


รัฐบาล คสช.จะตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ อย่างไร ผมไม่อาจทราบได้ แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตบตา หรือปิดบังคนไทยอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากทั้งเทคโนโลยีพลังงาน และการสื่อสาร
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น