เครือข่ายเภสัชกรบุก อย. ค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉับกฤษฎีกา ชี้มีช่องโหว่เพียบ ทำประชาชนเสี่ยงรับยาไม่ปลอดภัย เสนอยื่นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับสหสาขาวิชาชีพแก้ไขร่วม สธ.เข้า ครม.แทน ยินดีหากแก้กฎหมายใหม่บอกเสียเวลาก็ยอม ดีกว่าได้กฎหมายที่เสี่ยงต่อการใช้ยา
วันนี้ (21 มี.ค.) ตัวแทนเครือข่ายเภสัชกรจากภาคส่วนต่างๆ เช่น กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และตัวแทนกลุ่มเภสัชกรจากจังหวัดเลย ขอนแก่น บุรีรัมย์ เป็นต้น กว่า 20-30 คน นำโดย ภก.สมสุข สัมพันธ์ประทีป ประธานชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ และ ภก.เกียรติศักดิ์ ปานรังศรี ประธานชมรมเภสัชกรชุมชน จ.ภูเก็ต ในนามกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยื่นหนังสือต่อ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่ได้มีการแก้ไขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพเข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทน
ภก.สมสุข กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับกฤษฎีกาตรวจสอบมีความหละหลวมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ยาของผู้บริโภค เนื่องจากระบุให้เพิ่มข้อยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตผลิตยา นำเข้ายา ขายยา การให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยาสามารถผลิตยา กระจายยา แบ่งบรรจุยาให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่จะรับยาไม่ปลอดภัย ประกอบกับการให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยาได้โดยไม่มีการทบทวนความปลอดภัย และไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ของผู้สั่งใช้ยา และผู้จ่ายยาออกจากกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับยาโดยขาดการตรวจสอบซ้ำเพื่อความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้ขัดหลักสากล และการอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภท รวมทั้งยาที่รักษาโรคที่ร้ายแรงได้ และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย ที่สำคัญไม่มีข้อห้ามการผลิต และขายยาชุด เครือข่ายฯ จึงขอเสนอให้ อย. ส่งหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขโดยสหสาขาวิชาชีพไปยัง ครม.เพื่อนำร่างดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแทนร่างชุดเดิม และขอให้รัฐมนตรี สธ.ช่วยสนับสนุนร่างนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนทั่วประเทศ
ภก.เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ อย.เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาของสหสาขาวิชาชีพ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ไปก่อน ส่วน ครม.จะพิจารณาก็จะเป็นขั้นตอนไป แต่หาก อย.ยังยืนยันร่าง พ.ร.บ.ยา ของคณะกรรมการกฤษฏีกา ทางเครือข่ายฯ ก็จะคัดค้านถึงที่สุด ทั้งนี้ หากจะมาบอกว่าการปรับแก้ร่างกฎหมายใหม่จะต้องใช้ระยะเวลา ทางเครือข่ายฯ ก็ยินดีกว่าต้องเอาร่างกฎหมายที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาของผู้บริโภค
นพ.บุญชัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการแก้ไขมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2557 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการแก้ไขมาตลอด เพราะ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ใช้มานาน 49 ปี ต้องถึงเวลาปรับปรุงให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อมีการเสนอแก้ไขก็จะมีข้อทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ซึ่ง ครม.ก็รับฟัง อย่างล่าสุด ได้ให้ทาง สธ.มาพิจารณายืนยันร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งมาหารือกับทางกลุ่มต่างๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. รับทราบ และอยู่ระหว่างประสานเพื่อพูดคุยกับทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เพื่อหารือว่าหากยึดร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อเสนอของสหสาขาวิชาชีพได้หรือไม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่