xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ให้ กกต.ประสานกองทัพจัดเวทีฟังความเห็น ปชช. แย้มปมท่อก๊าซอาจถึงศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยให้ กกต.ประสานกองทัพจัดเวทีฟังความเห็น ปชช.ในแต่ละภาค เริ่มเมืองคอน รับประชุมเวทีนักการเมืองไปได้สวย ชี้มาตราปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ โต้งบประชามติไม่ถึงหมื่นล้าน เผยถก ปตท.-คลัง ปมท่อก๊าซยังไม่ได้ข้อสรุป แจงให้คุยกันไม่มีซูเอี๋ย คุยไม่จบอาจต้องไปว่ากันที่ศาล แจงดึง กม.จัดซื้อจัดจ้าง เหตุรอฟังท่าทีรัฐวิสาหกิจ และให้กลับไปดูรายละเอียด

วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติว่า ได้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานงานกับกองทัพแต่ละภาคในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดย กกต.จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีในแต่ละภาค ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะเป็นรูปแบบคล้ายการรับฟังความคิดเห็นจากบรรดานักการเมืองที่จัดไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่สโมสรทหารบก แต่ครั้งนี้จะแตกต่างออกไปบ้าง เพราะไม่ได้เน้นนักการเมืองเนื่องจากต้องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยเวทีแรกจะเริ่มที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยตนจะไปร่วมกิจกรรมด้วย พร้อมทั้งอาจจะมีตัวแทนจากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่จะไม่ครบทั้ง 5 สาย

“ยืนยันว่าการประชุมครั้งที่แล้วที่สโมสรกองทัพบกนั้น บรรยากาศเป็นไปด้วยดีอย่างไม่น่าเชื่อ ผมมีหน้าที่ตอบคำถาม แต่ไม่ต้องเตรียมตัว เพราะไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไร ตอบไม่ได้ก็บอกว่าตอบไม่ได้ เช่น คำถามว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร ผมก็ต้องตอบ ตอบว่า ทำใหม่ รู้แล้วจะได้ไม่ต้องถามอีก” นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรค 2 ใน พ.ร.บ.ประชามติ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ว่า หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใช้มาตราดังกล่าวก็ได้ และไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะกฎหมายฉบับนี้ใช้เฉพาะการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่านั้น ส่วนที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่างบประมาณการทำประชามติครั้งนี้สูงถึง 10,000 ล้านบาทนั้น ยืนยันไม่มีการเพิ่มเติมจากงบเดิมซึ่งอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท ที่มีพูดกันก่อนหน้านี้ว่า งบสำหรับครู ก. ครู ข. ครู ค. เป็นเงินนอกเหนือจากงบ 3,000 ล้านบาทนั้นก็ไม่จริง

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ว่า กรณีนี้เป็นเรื่องเก่าที่ สตง.ส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความนานแล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังพิจารณาไม่เสร็จ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดเก่าหมดวาระไป พอแต่งตั้งชุดใหม่ จึงต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลต้องรอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ ถึงจะเรียกคืนท่อก๊าซตามมติ สตง.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลพอทราบแนวทางแล้ว แต่ยังไม่ควรพูด โดยเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ได้เชิญ สตง. ปตท. กระทรวงการคลัง อัยการ และกฤษฎีกามาหารือกัน ซึ่งยังไม่ได้คำตอบ แต่ทำให้รู้แนวทางว่าเรื่องนี้มีเรื่องค้างอยู่ 2 ส่วน คือ เรื่องที่กฤษฎีกา และเรื่องที่ค้างอยู่ศาลปกครองที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นฟ้องเอาไว้ ส่วนกระทรวงการคลังแม้พอจะรู้ว่าจะทำอย่างไรต่อแต่ต้องประชุมภายในกันอีกครั้ง

เมื่อถามย้ำว่า การให้ ปตท.กับกระทรวงการคลังซึ่งเป็นคู่กรณีกันมาพูดคุยกันถือว่าแปลกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แปลก เพราะทั้งหมดเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรูของกันและกัน ฝ่ายตรวจสอบก็ทำหน้าที่ไป การนั่งคุยดังกล่าวไม่ได้มาซูเอี๋ย สตง.มายืนยันว่า ปตท.ต้องทำอย่างไร ส่วนปตท.บอกว่าได้ทำครบถ้วนแล้ว เมื่อเถียงกันไม่จบก็ไปศาล แต่สิ่งสำคัญที่ทราบจากการพูดคุยดังกล่าว คือ กรณีที่กระทรวงการคลังรอมติของ สตง. ซึ่งทาง สตง.บอกว่าจะไม่ส่งอะไรมา เพียงแต่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเท่านั้น และเป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่สตง.เคยแจ้งกระทรวงการคลังเมื่อปี 2551 โดยให้ใช้อันนั้นเป็นหลัก จากนี้จะไม่ส่งอะไรเพิ่ม

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบกับรัฐวิสาหกิจ และทราบว่าทางกลุ่มรัฐวิสาหกิจมีการนัดประชุมเรื่องนี้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.เช่นกัน เราจึงเลื่อนการพิจารณาไปในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าก่อน เพื่อรอฟังผลของรัฐวิสาหกิจว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องนี้เคยเข้าที่ประชุม ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตนขอให้กระทรวงต่างๆ กลับไปดูรายละเอียด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ อย่างกระทรวงการต่างประเทศที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในต่างประเทศก็ต้องไปเป็นไป พ.ร.บ.นี้กัน เมื่อดูกันแล้วก็มีเสียงทักท้วงกลับมา จึงให้นำมาพิจารณาในที่ประชุม ครม.ใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น