หน.ปชป. ระบุร่างนโยบาย รบ.บิ๊กตู่ ครอบคลุมเกือบหมด ภาระหนักที่จะทำตาม สำเร็จเป็นเรื่องดี ห่วงบ้างปัญหาไม่ชัด โยง สปช. ทำงง ชี้ทำให้เห็น 1 ปีไม่สำเร็จ ขอระบุให้ชัดเรื่องใดทำได้เลย หวัง สนช. ซักให้กระจ่าง แย้ง นายกฯตู่ อย่ายี้ประชานิยม เหมาทุกพรรคใช้ จนไม่ช่วย ปชช. แนะจับตาปมพลังงาน หาข้อยุติ ทบทวนคืนท่อก๊าซให้ถูกต้อง ไม่งั้นเดินต่อยาก
วันนี้ (11 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างแถลงนโยบายรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะนโยบายในปีนี้ แต่มีทั้งเรื่องภาพระยะกลาง และระยะยาวด้วย จึงเป็นภาระที่หนักมากที่จะทำได้ตามนโยบายที่วางไว้ เช่น ภาษีมรกด ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน การลดความเหลื่อมล้ำและนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริต หากทำสำเร็จก็เป็นเรื่องที่ดี แต่บางเรื่องตนไม่แน่ใจว่าเมื่อพบกับปัญหาแล้วจะเป็นอย่างไร เช่น สินค้าเกษตรที่เขียนไว้เป็นหลักการว่าอยากลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ แต่ไม่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาราคาตกต่ำอย่างไรเพราะภาวะเศรษฐกิจจะขึ้นกับกำลังซื้อของเกษตรกร ในขณะที่เกษตรกรก็เดือดร้อน ตนจึงเป็นห่วงอยากให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนนโยบายอื่นๆ หลายเรื่องเกี่ยวพันกับการปฏิรูป ซึ่งต้องทำงานคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูป จึงต้องติดตาม อย่างไรก็ตาม การวางนโยบายเช่นนี้ไม่ใช่การส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจะอยู่บริหารประเทศเกินกว่า 1 ปี เพียงแต่ทำให้เห็นว่างานของรัฐบาลคงไม่สำเร็จในระยะเวลา 1 ปี ดังนั้น จึงต้องชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้ทิศทางเดินต่อได้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้มีการระบุให้ชัดเจนว่าเรื่องไหนที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องรอสภาปฏิรูปเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีแนวทางอย่างไร เนื่องจากหลายเรื่องเดินได้เลย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต แต่บางเรื่องต้องรอการทำงานของสภาปฏิรูป เช่น การจะแยกกิจการท่อก๊าซออกจาก ปตท. เพราะเป็นการชี้นำแนวทางการปฏิรูปพลังงาน จึงหวังว่า สนช. จะทำหน้าที่อภิปรายซักถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าส่วนไหนที่จะเสร็จในช่วงระยะเวลา 1 ปี กับงานที่ไม่เสร็จในระยะเวลาดังกล่าว จะวางแนวทางทำงานร่วมกับสภาปฏิรูปอย่างไร
“สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี คือ การทำกติกาทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับสภาปฏิรูปและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากไม่เสร็จจะเข้าสู่โรดแมปที่ 3 ไม่ได้ 2. ความคาดหวังของประชาชนที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาในระบบราชการที่เบี่ยงเบนไปจากระบบคุณธรรมก็ต้องมีมาตรการแก้ไข นอกจากนั้น ปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเช่นเศรษฐกิจจะให้ฟื้นตัวอย่างไร และจะวางแนวทางให้เกิดความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังอย่างไร ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ภายใน 1 ปีก็จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ประกาศ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนเคยให้ความเห็นว่าต้องมีการวางแนวทางการทำงานของสภาปฏิรูปเพราะงานของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปอาจต้องเดินหน้าไปก่อนที่สภาปฏิรูปจะเริ่มทำงาน จึงต้องแยกออกมาให้ชัดว่าอะไรที่จะทำได้เลย แต่อะไรที่ยังมีข้อถกเถียงโต้แย้งก็ต้องรอสภาปฏิรูป ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุไว้ในคำแถลงว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่นโยบายพรรคการเมืองที่ต้องคำนึงถึงประชานิยมนั้น ตนเห็นว่ามองได้หลายมุมคือพยายามที่จะบอกสังคมว่ามีการแก้ปัญหาประชานิยม แต่ในอีกแง่หนึ่งตนอยากยืนยันว่านโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งนโยบายแต่ละพรรคจะมีความแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่านโยบายของพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีลักษณะเป็นประชานิยม จึงอยากให้ระมัดระวังว่าเมื่อต้องการหลีกเลี่ยงประชานิยมก็อย่าไปไกลถึงขั้นว่าไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่นปัญหาพืชผลการเกษตรอย่าไปตกหลุมคำพูดว่าไม่ประชานิยม จึงไม่ช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมารตรการลดต้นทุนที่ทำอยู่ไม่เพียงพอ
“เรื่องที่ต้องดูให้ดีคือเรื่องพลังงานเพราะฝ่ายหนึ่งพยายามยัดเยียดว่าการดูแลประชาชน เพราะคำนึงว่าก๊าซเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนควรใช้ในราคาต้นทุนเป็นเรื่องประชานิยม ซึ่งความจริงไม่ใช่ จึงอยากให้ระวัง และเรื่องการคืนระบบท่อก๊าซที่ยังมีข้อถกเถียงว่าอาจไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครอง รัฐบาลก็ต้องหาข้อยุติทางกฎหมายให้ได้ เพราะ สตง. ยังทักท้วงอยู่ รัฐบาลต้องหาข้อยุติ ตราบใดที่ยังไม่มีข้อยุตินี้ก็ไม่ควรประกาศว่าจะแยกบริษัทท่อก๊าซและจะขายหุ้นในอนาคตไม่ว่าจะให้กับกระทรวงการคลัง หรือใครก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่ควรทำ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือถึง พ.อ.อ.ประจินต์ จั่นตอง รอง หน.คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจให้ทบทวนการคืนทรัพย์สินและชี้ว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินในขณะนั้นมีการกระทำที่ขัดมติ ครม. 18 ธ.ค. 50 และกฎหมายหลายฉบับ รัฐบาลควรทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำให้ถูกต้องโดยยึดตามมติ ครม. 18 ธ.ค. 50 ที่ทำในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ สตง. เอง ก็เคยทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช. แล้วด้วย ก็ต้องมีคำตอบในส่วนนี้ว่าจะหาข้อยุติอย่างไร หากหาข้อยุติไม่ได้ก็จะกระทบต่อการปฏิรูปพลังงานทำให้เดินยากมาก เนื่องจากจะเป็นข้อถกเถียงที่ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้เลย แม้ว่าหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สตง. ทำถึง คสช. แต่เวลานี้มีรัฐบาลแล้วก็ต้องรับงานต่อมาสร้างความชัดเจน เพราะ สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินก็คงจะมีการติดตามต่อว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่