เมืองไทย 360 องศา
เรียกว่า เริ่มเดินเครื่องกันเต็มสูบแล้วเหมือนกันสำหรับ ทักษิณ ชินวัตร กับเครือข่ายในเกมทวงคืนอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ล่าสุด แนวร่วมในนามกลุ่ม นปช. เพิ่งเปิด “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” โดยอ้างว่า นี่คือ การร่วมกันรณรงค์เพื่อปราบปรามการทุจริตในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกัน พวกเขายังอ้างว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงลงประชามติให้มากที่สุด
หากพิจารณากันโดยเผิน ๆ มันก็น่าจะเป็นเรื่องดี เหมือนกับการช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อช่วยกันทำให้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 สิงหาคม ออกมาด้วยความโปร่งใสถูกต้อง เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนโดยเสียงส่วนใหญ่จริง ๆ แต่ถ้ามองในมุมที่ละเอียดลึกลงไปสีกนิดก็จะเข้าใจว่า นี่คือ “การเคลื่อนไหวแฝงเร้น” มีเป้าหมายเพื่อ “เขย่าอำนาจรัฐ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำอยู่ในเวลานี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อมูลใหม่” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เพิ่งออกมาเปิดเผยว่ามีความเคลื่อนไหวที่บ่อนทำลายความมั่นคงแบบชั่วร้ายและน่ากลัวหรือไม่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่เท่าที่เห็นในตอนนี้ ก็คือ กลุ่มคนที่ร่วมเปิดศูนย์ดังกล่าว ก็ล้วนเป็นพวกเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวของเขาทั้งสิ้น โดยคนพวกนี้ใช้ชื่อว่า กลุ่ม นปช. ก็มี จตุพร พรหมพันธุ์ ธิดา ถาวรเศรษฐ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากที่มาและแบ็กกราวนด์แล้วก็ย่อมเข้าใจไม่ยาก เพียงแต่ว่าเมื่อมองถึงเจตนาการเคลื่อนไหวข้างหน้าก็ต้องบอกว่า นี่คือ การ “ย้อนศร” กันแบบทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติต้อง “กระอักกระอ่วน” ไม่น้อย ทางหนึ่งก็อ้างว่าเพื่อช่วยกันปราบโกงการลงประชามติ สองช่วยกันรณรงค์ให้คนออกมาออกเสียงให้มากที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในความหมาย “เชิงซ้อน” ก็ต้องเข้าใจไปอีกทางหนึ่งว่า คนพวกนี้ได้ประกาศเจตนาเอาไว้แล้วว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะเดียวกัน พวกเขายังประกาศอีกว่า “จะคว่ำ” อีกด้วย และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนท่าทีแต่อย่างใด ซึ่งก็คงต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างผลกระทบในการเข้าสู่อำนาจของ “นาย” พวกเขาอย่างจัง และยังทำให้โอกาสที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบเดิมได้ยาก อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปีแรกที่ใช้บทเฉพาะกาล
ดังนั้น การประกาศปราบโกง และช่วยกันรณรงค์ออกมาลงประชามติ มันก็เหมือนเป็นการ “ซ่อนนัย” เหมือนกับ “ตีสองหน้า” เพราะอีกหน้าหนึ่งแฝงมาด้วยเจตนา “สักตรงหน้าผาก” ว่า ไม่รับ นั่นแหละ อีกทั้งยังประกาศจัดตั้งศูนย์ปราบโกงแบบนี้ในทั่วประเทศ มันก็คือการส่งสัญญาณการเคลื่อนไหว “ต้าน” กันทั่วประเทศนั่นเอง
ขณะที่ฝ่ายอำนาจรัฐ คือ รัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็รู้สึกกระอักกระอ่วน ขัดขวางไม่ได้เต็มที่ เพระในเมื่อพวกเขาบอกว่ามาช่วยกันปราบโกง และช่วยกันรณรงค์ให้ออกมาออกเสียงมาก ๆ มันก็น่าจะถูกต้อง หากไปขัดขวางก็เท่ากับว่า “กลืนน้ำลายตัวเอง” เหมือนกับที่ จตุพร พรหมพันธุ์ พูดใส่หน้าตำรวจและทหารที่ไปห้ามไม่ให้มีการเปิดศูนย์ฯดังกล่าวเมื่อวันก่อน โดยอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้อนกลับไปว่า นี่คือเจตนาและคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยย้ำว่าทำได้
ที่น่าจับตาอีก ก็คือ การที่คนพวกนี้เคลื่อนไหวกดันให้ศาลรัฐธรรมนูญรีบพิจารณาตีความ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 7 วันหลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ตีความ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วคงไม่อาจไปกดดันศาลฯได้ และศาลก็คงดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่อีกด้านหนึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้อย่างน้อยก็เป็นการ “สร้างกระแสบีบ” ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำในเรื่องเดินหน้าการลงประชามติตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 7 สิงหาคม ไม่ให้เลื่อนออกไปหรือยกเลิก
ที่บอกว่าเป็นการบีบก็คือ หากสมมติว่า เกิดรายการ “คว่ำ” ขึ้นมาตามที่เครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ต้องการ หรือเสียงออกมาก้ำกึ่ง หรือชนะกันไม่ขาด เครือข่าย ทักษิณ ก็จะเคลมว่าชาวบ้านปฏิเสธรัฐธรรมนูญของ คสช. เป็นการเขย่าสถานะของคณะผู้นำในเวลานี้ไปอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี นาทีนี้ก็ต้องวัดกันด้วยพลังศรัทธาของประชาชนว่าจะเทไปทางไหน ได้เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แค่ไหน และรู้ทันคนที่ออกมาเคลื่อนไหวแค่ไหน ได้สรุปบทเรียนในอดีตหรือไม่ ซึ่งผลสำรวจล่าสุดก็ออกมาแล้วว่าชาวบ้านกว่าร้อยละ 66 ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะออกเสียงแบบไหน มีเพียงกว่าร้อยละ 30 เท่านั้น ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้แค่ไหน หากทันเกมก็ยังเชื่อว่า “ขยับไม่ออก” อยู่ดี นอกจาก คสช. จะสะดุดขาตัวเองล้มลงเท่านั้นเอง !!