xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำสั่งศาลปกครองคดีท่อก๊าซรับฟ้องหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่บุคคลรอดเหตุพ้นตำแหน่งไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) (ภาพจากแฟ้ม)
เปิดข้อมูลศาล ปค. กลาง รับฟ้อง คดี ก.พลังงาน คลัง ปตท. ไม่คืนท่อก๊าซปตท. มองผู้ตรวจฯแท้จริงจะฟ้อง ก.พลังงาน คลัง ปตท. ละเลยหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งมีสิทธิฟ้อง แต่การที่ยื่นฟ้องบุคคล ซึ่งพ้นตำแหน่ง จนท. รัฐ แล้ว ศาลชี้ไม่มีสิทธิจึงไม่รับฟ้อง

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้เปิดเผยข้อมูลของศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งในคดีที่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และตัวบุคคลอีก 8 ราย กรณีการไม่คืนท่อก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้รับฟ้องไว้พิจารณาในส่วนของ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 กระทรวงพลังงาน จำเลยที่ 5 และ บริษัท ปตท. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 10 ซึ่งตามคำร้องขอของผู้ฟ้องนั้น สรุปว่า ปตท. คืนทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่ครบ ประกอบด้วย โครงการท่อก๊าซบางปะกง - วังน้อย โครงการท่อส่งก๊าซระยอง โรงไฟฟ้าบางปะกง - โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ท่อสายประธาน) รวมทั้งระบบท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกบางส่วน ที่ยังไม่ได้แบ่งแยก คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งสิ้น 32,613.45 ล้านบาท

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 11 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่กฎหมาย ปฏิบัติ หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และประชาชน โดยไม่เป็นธรรมตามที่มีประชาชนร้องเรียนต่อผู้ฟ้องคดี และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กระทรวงพลังงาน) และขอให้เพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2553 ที่รับทราบผล การดำเนินการตามคำพิพากษาที่ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 5 เสนอ อันเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล ที่มีลักษณะคดีเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ดี โดยที่มติ ครม. เมื่อ วันที่ 18 ธ.ค. 2550 เป็นเพียงการกำหนดแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35 / 2550 เท่านั้น มติ ครม. ดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิด ความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลใดที่จะ เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อเพิกถอน มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้แต่อย่างใด แต่ศาลเห็นว่ามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่แท้จริง มาจากการที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะกระทรวงการคลัง ผู้รับมอบทรัพย์สินคืนจากบริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้กำกับดูแลกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 ละเลย ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.

กรณีจึงพอแปลความได้ว่า ผู้ฟ้องคดี มีความประสงค์ที่แท้จริงที่จะฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ 5 และที่ 10 ละเลยต่อหน้าที่ในการปฏิบัติตามมติของ ครม. ที่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 14(2) ประกอบมาตรา 13(1)(ก) แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ในการเสนอเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่า กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 13(1)(ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้เสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า และมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้ง

ศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิ และหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น ผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42
ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 5 และที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อ ศาลปกครอง ตามมาตรา 42 ประกอบ มาตรา 43 แห่งพ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แต่ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้อง นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีต รมว.คลัง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีต รมช.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6

นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นายประสิทธิ์ สืบชนะ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 11 นั้น

เห็นว่า มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้คำนิยามคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหมายความว่า (1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง (2) ...แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และ ที่ 11 จะเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานทางปกครองและเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการดำเนินการ แบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ตามที่ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องก็ตาม

แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว จึงมิได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ตามนัยบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยประสงค์จะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเป็นบุคคลธรรมดา ที่มิใช่มีตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายในขณะที่ยื่นฟ้องคดีนี้ จึงย่อมเป็นการยื่นฟ้องตัวบุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ต่อศาลปกครอง

จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ไว้


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) (ภาพจากแฟ้ม)

กำลังโหลดความคิดเห็น