xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ รับศาลปกครองรับฟ้องคืนท่อก๊าซแค่ 3 หน่วยงาน ไม่ฟ้องรายบุคคล เหตุไม่ได้เป็น จนท.รัฐแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำศาลปกครองรับฟ้องคืนท่อก๊าซจาก ปตท.แค่ 3 หน่วยงาน ไม่รวมรายบุคคล อ้างทั้งหมดไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว จึงไม่อยู่ในอำนาจผู้ตรวจฯ

วันนี้ (25 พ.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวยืนยันว่า ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องปมทวงคืนทรัพย์สินจากบริษัท ปตท.แล้วไว้พิจารณาแล้ว โดยมี 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ตามคำสั่งของศาลปกครองที่ระบุไม่รับคำฟ้องนั้นเป็นการไม่รับเฉพาะ 8 บุคคลที่ผู้ตรวจฯ ยื่นฟ้องร่วมไปด้วย โดยศาลระบุเหตุผลว่า ผู้ตรวจฯ มีสิทธิฟ้องกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. เพราะถือเป็นหน่วยงานทางปกครองของรัฐตามมาตรา 42 ประกอบ มาตรา 43 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง 2542 ซึ่งศาลก็รับในส่วนนี้ไว้พิจารณาแล้ว ส่วนบุคคลทั้งแปดที่ศาลไม่รับนั้นคนเหล่านั้นพ้นจากกการดำรงตำแหน่งไปแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะที่ผู้ตรวจยื่นฟ้อง ดังนั้นบุคคลทั้งแปดจึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งของศาลปกครองในคดีนี้ ระบุว่าเป็นคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (ผู้ถูกฟ้องคดีบางราย) โดยเนื้อหาของคำสั่งระบุว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ) และขอให้เพิกถอนมติครม.วันที่ 10 ส.ค. 2553 ที่รับทราบผลการดำเนินการตามคำพิพากษาที่กระทรวงพลังงาน เสนอนั้น เป็นการเสนอข้อหาต่อศาลที่มีลักษณะคดีเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา 9 วรรคหนึ่ง(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แต่โดยที่มติครม. 18 ธ.ค. 2550 เป็นเพียงการกำหนดแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลใดที่จะเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้แต่อย่างใด ซึ่งศาลเห็นว่ามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่แท้จริงมาจากการที่ผู้ตรวจฯ เห็นว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้รับมอบทรัพย์สินคืนจากบริษัท ปตท. ไม่ดำเนินการตามคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธ.ค. 2550 และกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดบริษัท ปตท. ละเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงพอแปลความได้ว่า ประสงค์ที่แท้จริงในการฟ้องคดีของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือการฟ้องว่าหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้แบ่งแยกทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 14 ( 2) ประกอบมาตรา 13(1)(ก) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินในการเสนอเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย กรณีเห็นว่า กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองโดยไม่ชักช้า และมาตรา 43 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติให้ผู้ตรวจฯ มีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 ดังนั้น ผู้ตรวจฯ จึงมีสิทธิฟ้องกระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ) และบริษัท ปตท.จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครอง แต่ในกรณี นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นายกรณ์ จาติกวณิช ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล นายประสิทธิ์ สืบชนะ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นั้น แม้บุคคลเหล่านี้จะเคยดำรงตำแหน่งในหน่วยงานทางปกครองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สิน แต่เมื่อได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อนแล้วในวันที่ผู้ตรวจฯ ฟ้องคดี บุคคลเหล่านี้จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ผู้ตรวจมีสิทธิจะฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนบุคคลทั้ง 8 คนนี้ไว้พิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น