xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แจงอียู วอนผ่อนคลาย FTA ชี้อย่ามองแค่เลือกตั้ง ท้าเพื่อไทยก้าวข้าม “ชินวัตร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิสรา สุนทรวัฒน์ (ภาพจาก วิกิพีเดีย)
อดีต ส.ส. ปชป. “อิศรา” เผย หน.ปชป. แจงสมาชิกรัฐสภาอียู การเมืองไทยมั่นคงตามโรดแมป แต่ห่วงการมีส่วนร่วมประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และห่วงหากไม่ผ่านจะใช้ฉบับใด หรือร่างใหม่ก็ไม่รู้ เข้าใจจุดยืนแอนตี้รัฐบาลนอกระบบ แต่อย่างน้อยน่าผ่อนคลายเอฟทีเอ แจงอย่ามองมุมเดียวต้องเลือกตั้ง ปัญหาเดิมวกกลับมาอีก เผยถ้าทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยต้องก้าวข้ามตระกูลชินวัตร

วันนี้ (18 พ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการเข้าพบของ นายเวอร์เนอร์ แลงเกน สมาชิกสภายุโรป ประธานกลุ่มความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อาเซียน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสภายุโรป (อียู) พร้อมทูตอียูประจำประเทศไทย ได้นำสมาชิกสภาอียูพร้อมคณะ เข้าพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้คุยถึงสถานการณ์ของไทย

โดย นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การเมืองไทยมั่นคงในระดับหนึ่ง และคงเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้คือ จะมีการเลือกตั้งในปี 60 แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเปิดเวที หรือช่องทางในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และเข้าใจในจุดยืนของสภาสหภาพยุโรปต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การยุติบทบาททุกด้านไม่ใช่ทางแก้ อย่างน้อยควรให้มีการดำเนินการในกรณีเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียู ที่ต้องชะงักไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายที่ต้องเสียโอกาส จากการที่ฝ่ายอียูไม่ลงนามในสัญญาใด ๆ ควรจะมีการเตรียมในระดับปฏิบัติเพื่อรอความพร้อมของระดับนโยบายที่สามารถเซ็นลงนามได้ทันทีที่พร้อม

นายอิสรา กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลของตัวแทนอียูในเรื่องการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ขออย่ามองแค่มุมเดียว คือ ต้องเลือกตั้ง แต่หากเลือกตั้งมีรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งแล้ว ปัญหาเดิมวกกลับมาอีก พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะส่วนหนึ่งปัญหามาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ใช้อำนาจ จึงขอให้ดูบริบทของสังคมไทยด้วย และไม่มีใครที่อยากจะตกงานนาน ตนก็เช่นกัน อีกเรื่องที่เป็นห่วง คือ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติแล้ว ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด หรือร่างใหม่คือไม่รู้อะไรเลย โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศนิวซีแลนด์ทำประชามติใช้ธงชาติก็ยังมีตัวเลือกให้ประชาชนเลือก แต่นี่ไม่มีตัวเลือกใด

ส่วนประเด็นที่ตัวแทน ส.ส. อียู ถามว่า พรรคประชาธิปัตย์สามารถทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้นในฐานะนักการเมือง นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร แต่พรรคประชาธิปัตย์ขอเรื่องเดียวคือ หาดพรรคเพื่อไทยก้าวข้ามผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตรได้ รวมถึงการนิรโทษกรรมช่วยพวกพ้อง ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็นหัวหน้าพรรค การทำงานทางการเมืองจะราบรื่นขึ้น ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เคยได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับร่วมกันกับพรรคเพื่อไทย แต่ฉบับที่ไม่ผ่านคือกฎหมายนิรโทษกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น