xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แนะ “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ เปิดเผย-โปร่งใส ยันไม่ส่งคนลง สปช. หวั่นมีส่วนได้เสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หน.ปชป.ชี้ หัวหน้า คสช.ทราบดีว่าเป็นนายกฯ ต้องทำภารกิจสำคัญอะไร เชื่อทราบปัญหาความเดือดร้อน แนะต้องพิสูจน์ตัวเองหลังไร้กระบวนการตรวจสอบ เปิดเผยและโปร่งใสที่สุด ยืนยันพรรคไม่ส่งคนลง สปช. เพราะมีส่วนได้เสีย แนะช่วยเหลือเกษตรกรอย่าทำลายกลไกตลาด สร้างปัญหาในอนาคต

วันนี้ (22 ส.ค.) ที่สภากาชาดไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ทราบดีว่าภารกิจสำคัญที่จะต้องทำ คือ การปฏิรูปประเทศก่อนที่จะคืนการเมืองไปสู่ระบบการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ทราบดี ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกษตรกรในชนบท หรือราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ส่วนปัญหาการตรวจสอบนั้น ตนคิดว่าในภาวะไม่ปกติอย่างนี้ แน่นอนว่าย่อมไม่มีหลายกลไกในการตรวจสอบ รัฐบาลต้องพิสูจน์ตัวเองให้มาก พยายามทำอย่างเปิดเผยและโปร่งใสที่สุด เพื่อแสดงถึงความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ รวมถึงสิ่งที่ตนเคยเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิรูปคืออะไร สำหรับกรณีที่ข้าราชการดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคราวเดียวกันนั้น ตนไม่ทราบว่าถ้ามีการตั้งรัฐบาลแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์รับภาระหนักมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ยังยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งสมาชิกเข้าร่วมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะเป็นเรื่องของการมีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่สมควรที่จะเข้าร่วม สปช. ซึ่งการปฏิรูปจะมีการกำหนดกติกา เพราะในอนาคตเรายังจะต้องเป็นผู้เล่น ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ ให้ข้อมูลในฐานะที่มีประสบการณ์ และเห็นว่าคนที่กำหนดกติกาไม่ควรเป็นผู้เล่นในอนาคตเช่นกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา ล่าสุดจะมีม็อบออกมาขอความช่วยเหลือแล้ว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์บอกให้ไปร้องในพื้นที่ของเกษตรกรก่อน ซึ่งตนก็เชื่อว่าชาวสวนยางจะไปร้อง เพราะเขาเดือดร้อนมาก ทั้งนี้ ตนอยากเห็นการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคายางพาราและราคาข้าวตกต่ำ อยากบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่จะช่วยเกษตรกร เพียงแต่ต้องช่วยในระดับที่เหมาะสม และอย่าทำลายกลไกตลาด หรือสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงก็ไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด เพราะการแทรกแซงบางรูปแบบก็จำเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น