รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ ชี้ “ทักษิณ” เล่นบทเด็กดี หวังปลายทางนิรโทษกรรม หนุนทำได้เฉพาะคดีชุมนุมการเมืองไม่รวมปล้น เผา โกง รับสังคมไทยลืมง่าย ทำไร้ผิดถูก แนะ คสช.ใช้อำนาจพิเศษปฏิรูปการเมือง
วันนี้ (18 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปล่อยให้ทหารแสดงฝีมือไปก่อน และเชื่อจะอยู่ได้แค่1 ปี เพราะสู้แรงกดดันจากนานาชาติและอาจประสบปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมให้ อดีต ส.ส.เพื่อไทยถอนฟ้องในคดีต่างๆ ลดความขัดแย้งเพื่อปูทางไปสู่การนิรโทษกรรมว่า ตนคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมรวมถึง คสช. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาหยุดและพร้อมทำตามที่ คสช.ขอร้องแล้วคือเล่นบทเด็กดี แต่ท้ายที่สุดก็ยังเปิดเผยความต้องการที่แท้จริงที่ต้องการมากที่สุดของตัวเองออกมา คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม เห็นได้ชัดจากที่ผ่านมาในการดันออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ไม่สำเร็จ ถูกประชาชนขัดขวาง ตอนนี้ได้มีการนำเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ถือเป็นคำตอบสุดท้าย ส่วนจะมีการพูดคุยเจรจากับผู้มีอำนาจหรือไม่ ตนไม่ทราบ
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถทำได้ แต่ต้องแยกประเภทของกลุ่มคดี ไม่ใช่เหมารวมเข่ง เพราะสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่คนหมู่มากเข้าร่วม และผลกระทบ แต่ไม่รวมถึงคดีที่ผู้ชุมนุมไปกระทำความผิดทางอาญาอื่น เช่น คดีปล้น เผา โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันต้องแยกออกให้เด็ดขาด เพราะถ้าเดินหน้านิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ที่สุดความวุ่นวายจะหวนกลับมาอีก และตนเชื่อว่าทั้ง สนช.และสปช.ที่กำลังสรรหาก็คงจะไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมคดีทุจริต แต่ต้องยอมรับความจริงว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ลืมง่าย ไม่เอาอดีตมาเป็นบทเรียน ประเทศไทยจึงไม่มีผิดไม่มีถูก คือผิดก็ทำให้ถูกได้ หรือถูกก็ทำให้ผิดได้ ไม่ยึดหลักกฎหมาย
นายนิพิฏฐ์ยังกล่าวถึงการสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ไม่คึกคักเท่าที่ควรกับการดำเนินงานการปฏิรูปการเมืองของ คสช.ว่า เท่าที่ติดตามพบว่า คนประเภทดี เด่น ดังไม่ค่อยให้ความสนใจ จึงกังวลว่าจะไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงได้เท่าที่ควร แม้จะมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าสมัคร แต่ใหญ่เป็นพรรคเล็กที่ไม่ค่อยมี ส.ส.ในสภา ทั้งที่ คสช.ได้รับแรงสนับสนุนที่สะท้อนผ่านโพลต่างๆ สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์จึงควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปการเมืองโดยใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษ ไม่ใช่ใช้อำนาจปกติในสถานการณ์พิเศษอย่างที่ทำขณะนี้ ที่ตั้ง สนช. หรือ สปช.เนื่องจาก คสช.มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ สามารถทำได้ว่าจะชูการปฏิรูปเรื่องใด ด้านใด เพราะการตั้ง สนช.หรือ สปช. เท่ากับว่าต้องการให้มีการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่า สนช.ที่ตั้งไม่หลากหลาย และกลับประกาศออกมาว่าเมื่อปฏิรูปแล้วจะไม่มีการทำประชามติอีก เท่ากับว่าตัดการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนหรือภาคสังคม จึงขัดแย้งกันเองในตัว