xs
xsm
sm
md
lg

40 ส.ว.มอง “เสรี” มุ่งปรองดอง แต่แนะใช้ของ “เอนก” ชี้ควรดันเป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสปช. (แฟ้มภาพ)
“ประสาร” มองข้อเสนอ กม.รอการกำหนดโทษ “เสรี” เป็นความพยายามปรองดอง ล้างผิดไม่ควรตัดสิทธิการเมือง ยกผลสรุปชุด “เอนก” ค่อนข้างสมบูรณ์ น่ามีผลบวกแนวทางปรองดอง ย้ำไม่ใช่เรื่องของกลุ่มใด ทุกฝ่ายต้องลดความต้องการ ต้องใช้เวลา ควรเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (10 พ.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว. และอดีต สปช.มีความเห็นต่อข้อเสนอของนายเสรี สุวรรณภานนท์ เรื่องการออกกฎหมายรอการกำหนดโทษ โดยมีเงื่อนไขการสารภาพผิด และการตัดสิทธิทางการเมืองว่า มองในแง่ดีนับว่าเป็นความพยายามอีกส่วนหนึ่งที่จะร่วมด้วยช่วยกันให้เกิดการปรองดองขึ้น เท่าที่ทราบข้อเสนอนี้เป็นความเห็นเฉพาะตัว ยังไม่ได้ผ่านที่ประชุมกรรมาธิการ และยังไม่ผ่าน สปท. และต้องดูว่าข้อเสนอนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งอื่นตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นของการปฏิบัติ คนที่ต่อสู้คดีมาโดยตลอดว่าตนเองถูกต้อง ไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วมากำหนดว่าต้องสารภาพผิด ใครจะยอมได้ และหากเขาได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือรับนิรโทษกรรมก็ไม่ควรไปตัดสิทธิทางการเมืองเขาเพราะโทษถูกยกไปแล้ว สิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน ไม่ใช่อุปกรณ์แลกเปลี่ยนแบบยื่นหมูยื่นแมว

นายประสารกล่าวต่อว่า ความจริงบทสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ที่ผ่านการรับรองของ สปช.และนำเสนอ ครม.แล้วตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2558 นั้น ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ เพราะมีพื้นฐานจากกรรมการที่มาจากทุกสี นอกจากได้ต่อยอดมาจากผลศึกษาของ คอป.ชุด อ.คณิต ณ นคร และชุดของสถาบันพระปกเกล้า แล้ว กรรมการยังได้ลงไปสัมผัสพูดคุย จัดเวทีแลกเปลี่ยน เยี่ยมเยียนญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ต้องขังอีกด้วย จนตกผลึกเป็นข้อเสนอ 6 ประการที่จะต้องบูรณาการร่วมกันไป เช่น 1 .การสร้างความเข้าใจกับสังคม 2. การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 3. การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิด และการให้อภัย ซึ่งในประเด็นนี้ ได้แยกแยะกลุ่มประเภทคดีอย่างเป็นกลุ่มก้อนและเป็นระบบ ที่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้ได้ 4. การเยียวยา ดูแล และการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 5. การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และ 6. มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้ง 6 ข้อนี้ระบุลงไปถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และน่าจะมีผลทางบวกอย่างยิ่งต่อแนวทางการปรองดอง

“มีข้อคิดเพิ่มเติมว่า 1. การปรองดองเป็นภารกิจของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดหรือกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ เป็นบูรณาการร่วมกันของทั่วทั้งสังคม 2. ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับความเป็นจริงร่วมกันว่า การปรองดองเป็นการลดความต้องการในส่วนของตน ไปเพิ่มความต้องการในส่วนของคนอื่น 3. การปรองดองไม่ใช่มะม่วงบ่มแก๊ส เป็นงานที่ต้องใช้เวลา จะให้เกิดผลในชั่วข้ามคืนไม่ได้ 4. รัฐบาลควรกำหนดให้การปรองดองเป็นวาระแห่งชาติ” นายประสารกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น