xs
xsm
sm
md
lg

วอน"การเมือง"ร่วมปรองดอง สปท.ติงทหารอย่าใช้แต่อำนาจ เร่งเคาะโครงสร้างอนุฯปยป.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผบ.สส. ย้ำกองทัพพร้อมหนุน "รัฐบาล-คสช." ในการสร้างความปรองดอง เปรียบ ปยป. เหมือนล้อรถ ต้องแก้ไขพร้อมกันทั้ง 4 กลุ่มงาน "ประจิน" คาดโครงสร้างอนุฯ ปยป. เสร็จสัปดาห์นี้ "พีระศักดิ์" วอนพรรคการเมืองร่วมปรองดอง ด้าน"สุวิทย์”เตรียมพบ"พรเพชร" จัดสัดส่วน ปยป. "ถาวร" ยันพร้อมพูดคุยทุกฝ่ายแต่ไม่เซ็นเอ็มโอยู แนะตั้ง"คณิต" เป็นกก.ปรองดอง ด้าน สปท.การเมืองแนะใช้ผลการศึกษาที่เคยทำมาร่วมพิจารณา ติงทหารอย่าใช้แต่อำนาจ

พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวถึงการสร้างความปรองดอง ตามแนวทางของรัฐบาล และคสช. ว่า เรามีความพร้อม และจะทุ่มเททุกอย่างเพื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นกลไกที่มีประโยชน์ และมีความพร้อมที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามปัญหาต่างๆได้

"การทำงานของ ปยป. ที่ประกอบด้วย 4 ส่วน เสมือนกับรถยนต์ที่ติดอยู่ในหล่ม เราพยายามแก้ปัญหาที่ล้อใดล้อหนึ่งก็แก้ไขไม่ได้สักที ในเมื่อเห็นว่ารถยนต์มี 4 ล้อ ก็ต้องแก้ปัญหาทั้ง 4 กลุ่มงาน ตั้งแต่ ป. แรก คือ การปฏิรูปประเทศ ที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้รวบรวมปัญหามาโดยตลอด จึงรู้ว่าจะปฏิรูปอะไรบ้าง ส่วนตัว ย. คือ ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งที่ผ่านมามักหวังผลยุทธศาสตร์ระยะสั้น โดยไม่ได้คิดถึงยุทธศาสตร์ระยะยาว จึงทำให้การลงทุนในระยะยาวไม่ชัดเจน ถ้ามียุทธศาสตร์ชัดเจน ก็จะช่วยได้ ขณะที่เรื่องปรองดองก็จำเป็น เพราะเราอยู่ในความขัดแย้ง และแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมานาน ดังนั้นต้องหาทางออก และสุดท้าย การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าอะไรที่ติดขัดต้องแก้อย่างรวดเร็ว" พล.อ.สุรพงษ์ กล่าว และว่า ถ้าเราแก้ไขปัญหาพร้อมกันทั้ง 4 กลุ่มงาน ก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้ ดังนั้นต้องพยายามทำให้สำเร็จ

**"ประจิน"เร่งจัดโครงสร้างอนุฯปยป.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็น รองประธานคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ว่าตนจะทำหน้าที่ประสานในแผนงานที่เกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนาคน งานวิจัย โดยจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมไปศึกษาข้อเสนอของ สนช. สปท. และ คสช. ที่ทำมาก่อนแล้ว จากนี้จะไปดูตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานต่อไป โดยรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบใน 4 คณะอนุกรรมการของ ป.ย.ป. จะไปดูรายละเอียดโครงสร้างของตัวเอง ก่อนส่งให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. เป็นคนรวบรวม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องโครงการสร้างการทำงานของแต่ละคณะ

ส่วนฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ที่แสดงท่าที่ไม่ให้ความร่วมมือนั้น ก็อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกัน เรื่องนี้จะต้องใช้เวลา เชื่อว่าทุกคนจะเห็นแก่ประชาชนและประเทศชาติ

** วอนฝ่ายการเมืองร่วมปรองดอง

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่า มีเเต่คนของฝ่ายกองทัพเข้าไปมีตำแหน่งในคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ แต่ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าร่วมว่า ตอนนี้กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี อย่าพึ่งอคติกันว่ามีเเต่ฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ถ้าเปิดรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองเป็นเรื่องดี เหมาะสม จะได้รู้ฝ่ายการเมืองอยากได้ปรองดองแบบไหน ถ้าทุกฝ่ายมีเเต่ตั้งเงื่อนไขกันหมด เมื่อไหร่จะปรองดองได้ จึงอยากวิงวอนให้นักการเมืองใจเย็นๆ เพื่อทางออกของชาติ

ผูู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า วันที่ 20 ม.ค.นี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ปยป. จะเข้าพบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เพื่อหารือเรื่องสัดส่วนรายชื่อฝ่ายรัฐสภา ที่นอกจากประธาน สปท. และประธานสนช. จะเข้าไปเป็นกรรมการโดยตำแหน่งเเล้ว ก็จะหารือเรื่องนำรายชื่อรองประธาน สปท. และรองประธาน สนช. อีกฝ่ายละ 1 คน เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ ป.ย.ป. แต่ละชุดด้วย ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ไม่น่าจะมีสัดส่วนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการ ป.ย.ป.อย่างเป็นทางการ แต่จะมีการเชิญฝ่ายการเมืองเข้ามาให้ความเห็นในประเด็นสำคัญ มากกว่าจะมามีตำแหน่ง

** แนะตั้ง"คณิต"เป็นกก.ปรองดองด้วย

นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) หนุนแนวทางปรองดอง แต่จะไม่ลงนามเอ็มโอยู ทำสัตยาบันเพื่อยุติความขัดแย้ง และที่ผ่านมาตนก็ไม่เคยพูดว่าจะเซ็นเอ็มโอยู แต่พร้อมที่จะพูดคุยฉันท์มิตร และเห็นว่าการลงนามแทนองค์กรนั้น ถ้าขณะนี้ยังมีการห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ผู้ที่ลงนามยังไม่ได้รับฉันทานุมัติจากองค์กร แล้วใครจะสามารทำหน้าที่ลงนามแทนองค์กรนั้นๆได้ ดังนั้นตนก็ถามไปยังทางพรรคเพื่อไทย ว่า ถ้าคสช. ยังห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ แล้วเขาจะไปลงนามได้อย่างไร

นอกจากนี้ ขอถามต่อว่าถ้าหากมีการลงนามแล้ว จะเป็นข้อบังคับให้ปฏิบัติตาม หรือไม่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีกฎหมายข้อไหนที่จะมาลงโทษ ซึ่งตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเจตนาที่ นายสุเทพ ได้พูดออกไป ที่ผ่านมาตนเห็นมีการทำเอ็มโอยูกันมากมาย อาทิ สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็เคยลงสัตยาบันกับพรรคที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่วันต่อมาเขาก็เบี้ยวไปคุยกับพรรคเล็กทันที เพราะฉะนั้นตนมองว่า สัตยาบันนั้นยังไม่ใช่ข้อบังคับเด็ดขาด วันนี้พูด พรุ่งนี้จะเปลี่ยนคำพูดก็ได้ วันนี้รัฐบาลนี้แถลงว่าจะปราบปรามการทุจริต แต่พอเป็นพวกเดียวกันทำ เขาอาจจะทำเฉยเมยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ขอเสนอว่าควรแต่งตั้ง นายคณิต ณ นคร อดีตประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เข้าไปทำหน้าที่กรรมการสร้างความปรองดองด้วย

** ติงทหารอย่าใช้แต่อำนาจ

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ควรนำผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีหลายคณะทำงานได้ศึกษา มาตั้งแต่ ปี 52 อาทิ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน , รายงานของสถาบันพระปกเกล้า , รายงานปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานศึกษา มาพิจารณาด้วย

"ผมศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดองมาตั้งแต่ปี52 พบว่าเหตุสำคัญที่การสร้างความปรองดองเกิดไม่ได้ เพราะว่า 1. คนที่ทำเรื่องการสร้างความปรองดอง ไม่มีความอดทนรับฟังกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง พอได้ยินคนเห็นต่างก็มองว่าเขาเป็นคนจากฝ่ายตรงข้าม 2.ไม่มีการเปิดใจมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ให้สำเร็จอย่างแท้จริง เมื่อทำเรื่องนี้ในช่วงเวลาหนึ่ง ก็เก็บเอาไว้ ไม่มีการนำมาสานต่อ 3. ต้องอย่าอคติ อย่าไปเน้นที่ชื่อคน ต้องมองอนาคตร่วมกัน ไม่ใช่ไปมองแต่ข้างหลัง ผมเชื่อว่าถ้าทำทั้ง 3 ประการนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างความปรองดอง" พล.อ.เอกชัย กล่าว และว่า การสร้างความปรองดองนั้นต้องหลากหลาย จะต้องใช้ปัญญา และความรู้ ใช้ทหารอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อยิ่งใช้กำลังและอำนาจก็จะยิ่งไม่ปรองดอง
กำลังโหลดความคิดเห็น