xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์” แนะเปิดช่องแสดงออกร่าง รธน. - เตือน ป.ป.ช.ถอนฟ้องสลายพันธมิตรฯ คสช.อยู่ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)
ญาติวีรชนพฤษภา 35 แนะ คสช. และ กกต. เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงออกร่างรัฐธรรมนูญ หากเกิดความวุ่นวายค่อยดำเนินการตามกฎหมาย แทนที่จะไปควบคุมคนที่เห็นต่าง ชี้ กรณี ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ ช่วยเหลือพวกตัวเอง ผลักให้เป็นศัตรู ทำลายความเชื่อถือ หวั่นขัดแย้งบานปลาย พร้อมวอนอย่าดึงเบื้องสูงเป็นประเด็นการเมือง

วันนี้ (8 พ.ค.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า คำว่า ประชามติหมายถึงการแสดงออกโดยอิสระและเสรีภาพ ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระเดียวกันกับการออกเสียงประชามติทุกประเทศในโลกนี้ และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ระบุว่า ถึงการแสดงออกด้วยความสุจริตของประชาชนสามารถทำได้ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเรื่องปกติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงไม่ควรไปควบคุมจับกุมคนที่เห็นต่าง จะเป็นการแปลเจตนารมณ์ของประชามติผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารจัดการเลือกตั้ง ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงออกเต็มที่ หากเกิดความวุ่นวายค่อยดำเนินการตามกฎหมาย เพราะหากคุมเข้มเกินไปก่อนถึงวันลงประชามติ 7 ส.ค. ที่ทุกฝ่ายต้องการแสดงออกเต็มที่จะมีห้องขังคนเพียงพอหรือไม่

“การที่ คสช. เที่ยวควบคุมบุคคลต่าง ๆ โดยอ้างความมั่นคง ล้วนเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไร้สาระมาก เพราะการแสดงออกถึงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบต่อประชามติ และความมั่นคง เพราะประชาชนไม่ได้โง่ ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแบบนี้คงไม่มีใครอยากล้มรัฐบาลแล้วมาบริหารประเทศแทน แต่ประชาชนเขาอยากให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง ขจัดความเหลือมล้ำล้างทุจริตคอร์รัปชัน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองแก่คนในชาติ แต่ คสช. กลับจะสืบทอดอำนาจไปอีก ผิดคำประกาศตอนยึดอำนาจ จึงเป็นห่วงว่าจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์พฤษภา 35” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะถอนฟ้องคดีสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ว่า เป็นเรื่องท้าทายกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว ทั้งนี้ การช่วยพวกพ้องเป็นเรื่องปกติ แต่หากจะช่วยก็ต้องช่วยให้หมด นิรโทษกรรมทุกกลุ่มทุกเสื้อสี ตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เสนอรัฐบาลไปแล้วให้นิรโทษประชาชนผู้ชุมนุมก่อน หรือนิรโทษระดับกลางซอย แต่หาก ป.ป.ช. ใช้อำนาจเพื่อช่วยเหลือพวกตัวเองฝ่ายเดียว กลุ่มพันธมิตรฯ จะยอมได้อย่างไร เป็นการผลักมิตรให้เป็นศัตรู เชื่อว่า คสช. จะอยู่ไม่ได้แน่นอน และจะเป็นการทำลายความเชื่อถือของ ป.ป.ช. จนไม่สามารถเอาผิดคดีจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ จะถูกมองว่าเป็นการฮั้วกันหรือไม่ คำตอบจึงอยู่ที่ คสช. จะเลือกทางใด หากเกิดความขัดแย้งจนเกิดวิกฤตอีกครั้ง ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

นายอดุลย์ กล่าวถึงการจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย ว่า เรื่องสถาบันสูงสุดของชาติ ไม่ควรที่ทุกฝ่ายจะนำมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่พวกเราเทิดทูนไว้สูงสุด ดังนั้น จึงวิงวอนทุกฝ่ายอย่าดึงเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น