xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ป.ป.ช.ชงทีมศึกษาถอนฟ้อง 7 ตุลาฯแล้ว - “ชาญชัย” ชี้ถ้าถอนจริงต้องทำคดีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผย ชงตั้งคณะทำงานศึกษาถอนฟ้องคดี 7 ตุลาฯ แล้ว ไม่รู้ประธานเซ็นหรือยัง คาดทำไม่นาน ชงที่ประชุมได้ในเดือนนี้ พร้อมฟังเสียงค้านตามข้อเท็จจริง และความเห็น “วิชา” แต่ไม่เอาความรู้สึกมาพิจารณา ด้านอดีต ส.ส. นครนายก ประชาธิปัตย์ ชี้ หากถอนจริงต้องทำคดีขึ้นไปใหม่ ถ้าปล่อยจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้ คำร้องจำเลยมีเจตนาไม่ปกติ ผลักภาระให้ศาล เตือนทำจริงเกิดปัญหากับคดีที่เหลือในวงกว้าง

วันนี้ (2 พ.ค.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบเพื่อให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าประธาน ป.ป.ช. ได้มีการลงนามแล้วหรือยัง โดยคณะทำงานประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านคดีของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน ผู้บริหารระดับสูงของ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้อง รวมแล้ว 14 - 15 คน

นายสรรเสริญ กล่าวต่อว่า หลังจากประธาน ป.ป.ช. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว ตนจะนัดคณะทำงานประชุมครั้งแรก คาดว่า จะใช้เวลาศึกษาไม่นาน เพราะประธาน ป.ป.ช. ได้วางกรอบเอาไว้ว่าจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดใหญ่ภายในเดือน พ.ค. นี้ ส่วนที่มีกระแสคัดค้านจากภายนอกนั้น หากเป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คณะทำงานพร้อมรับฟัง รวมทั้งประเด็นทางกฎหมายที่นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นักกฎหมาย และนักวิชาการท่านอื่น ๆ ให้ความเห็นเอาไว้ ส่วนประเด็นความรู้สึกเราจะเอามาพิจารณาไม่ได้ โดยคณะทำงานจะศึกษาและทำความเห็นทางกฎหมายในภาพรวมทั้งหมด และส่งไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ตัดสินใจให้ทันตามกรอบที่ประธาน ป.ป.ช. กำหนดไว้

ด้าน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธาน กมธ. วิสามัญแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติชอบ เพิ่มเติมปี 54 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หากดูในมาตรา 86 (2) ถ้าหากมีการจะยื่นถอนฟ้อง หรือศาลพิจารณาว่าฟ้องผิดศาลแล้วศาลวินิจฉัยให้ถอนฟ้อง ป.ป.ช. ก็มีหน้าที่ในการทำคดีขึ้นไปใหม่ในฐานะพนักงานสอบสวน ถ้าไม่ปฏิบัติจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสามารถยื่นถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ได้ รวมทั้งยังมีโทษเป็นสองเท่ากว่าเรื่องทั่วไป ทั้งนี้ ตนมองว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ในเขตอำนาจศาลแล้ว ทั้ง ป.ป.ช. และจำเลยผู้ร้องขอความเป็นธรรม ประกอบด้วย นายสมชาย ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษา พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ ทราบดีในเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล การยื่นคำร้องในลักษณะนี้ จึงมองได้ว่า เป็นเจตนาที่ไม่ปกติ รวมถึงเป็นการผลักภาระให้กับศาล

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ ป.ป.ช. กำลังทำอยู่ เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจศาล ท้าทายวาระการปฏิรูป ท้าทายกระแสสังคม และเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ทำลายกระบวนการตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่เรื่องการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งหากกรณีนี้ ป.ป.ช. ยื่นถอนฟ้องจริงจะเกิดปัญหาในวงกว้าง ทุก ๆ คดีที่เกี่ยวกับทุจริต ข้าราชการ หรือกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวข้องก็จะใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในการยื่นขอความเป็นธรรม รวมไปถึงคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องอีกด้วย ดังนั้น ตนเห็นว่า ถ้า ป.ป.ช. ทำจริง อย่าว่าแต่คดีจำนำข้าวเลย คดีเป็นร้อยเป็นพันที่อยู่ในเขตอำนาจ ป.ป.ช. ก็จะมีปัญหาตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น