xs
xsm
sm
md
lg

“วัชรพล” เร่งทีมดูหลักฐานใหม่คดี 7 ตุลา ลั่นถ้าไม่เป็นธรรมก็ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธาน ป.ป.ช.เผยมติที่ประชุม 6 ต่อ 1 ถอนฟ้องคดี 7 ตุลาได้ ตั้งกรรมการดูหลักฐานเพียงพอจะขอถอนหรือไม่ บี้อย่าทำช้าจะไม่เป็นธรรมต่อจำเลย หยัน “วิชา” พูดแค่ความเห็นหนึ่ง ลั่นถ้าไม่เป็นธรรมก็รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ด้าน “สรรเสริญ” คาดเสร็จเดือนหน้า

วันนี้ (27 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2551 ตามที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.จำเลยคดีดังกล่าว และยื่นขอความเป็นธรรมเข้ามา ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องขอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่เข้ามาให้ ป.ป.ช.พิจารณา หากทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาเหล่านั้น เขาก็ขอให้ถอนฟ้องเสียก่อน หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ไปฟ้องร้องต่อศาลฏีกาเอง ดังนั้น ทางกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้พิจารณากันว่า ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า มีหลักฐานใหม่ และเป็นสิทธิยื่นร้องขอความเป็นธรรมนั้น ป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้างตามข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นที่เขาขอให้ถอนฟ้องนั้น ต้องดูก่อนว่าเรามีอำนาจจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะคดีนี้ถูกฟ้องไปที่ศาลฎีกาฯ แล้ว และอยู่ระหว่างการสืบพยาน ป.ป.ช.จึงให้สำนักกฎหมาย ป.ป.ช.พิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งได้รับความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กรรมการ ป.ป.ช.จึงหารือในที่ประชุม ได้เสียง 6 ต่อ 1 จากกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 7 ราย ที่ร่วมที่ประชุมในวันดังกล่าว ที่เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามความเห็นของกฎหมาย และต้องดูด้วยว่าจะดำเนินการหรือไม่ ต้องดูเหตุผลของผู้ถูกกล่าวหาที่ขอมาประกอบกับกฎหมายของ ป.ป.ช.ในกรณีที่จะพิจารณาเรื่องเดิมหลังจากที่ได้มีมติไปแล้ว

“ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานโดยให้เลขาธิการ ป.ป.ช.และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ไปพิจารณาว่าสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ร้องขอความเป็นธรรมมานั้น จะมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ที่จะนำมาพิจารณาว่า ป.ป.ช.จะขอถอนฟ้องได้หรือไม่ ขั้นตอนก็ยังอยู่เพียงเท่านี้” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวต่อว่า ตนได้ขอให้คณะทำงานพิจารณาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ และจะต้องให้กรรมการ ป.ป.ช.สามารถวินิจฉัยได้อย่างแท้จริงว่า ข้อร้องขอความเป็นธรรมนั้น สามารถวินิจฉัยว่าเข้าเงื่อนไข ป.ป.ช.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะทำงานสามารถรวบรวมสรุปข้อคิดเห็นได้แล้วก็จะส่งกลับที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ตนได้เร่งรัดคณะทำงานไปอยู่เหมือนกันว่า ต้องไม่ทำช้า เพราะถ้าปล่อยให้ช้าก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง แต่ก็ย้ำว่าขอให้การพิจารณาทุกอย่างรอบคอบเป็นไปตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ป.ป.ช.เป็นคนส่งฟ้องไปที่ศาลฎีกาเอง แล้วหากมาถอนฟ้องเท่ากับว่าเป็นการขัดต่อหลักการทำงานของ ป.ป.ช.เองหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เมื่อผู้ร้องร้องขอความเป็นธรรมมาเราก็ต้องพิจารณา หากขอมาแล้ว ป.ป.ช.ถอนไม่ได้ เราก็บอกว่าเราถอนไม่ได้เพราะกระบวนการเดินหน้าไปแล้ว เพียงแต่เมื่อดำเนินการไปแล้วกฎหมายไม่ได้ห้าม จึงต้องมาดูด้วยเหตุด้วยผล หากเหตุผลไม่ได้ เราก็ไม่ดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่าไม่เคยมีปรากฏเหตุการณ์ ป.ป.ช.ขอถอนฟ้องคดีจากศาลฎีกาฯ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า นั้นถือเป็นความเห็นหนึ่งตามที่ตนได้เรียนแล้วว่า กรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อกฎหมายว่า ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย

เมื่อถามว่า หากสามารถดำเนินการถอนฟ้องได้แต่จะเหมาะสมหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องเหตุผล เรื่องของความเป็นธรรมเป็นคนละเรื่อง รวมถึงเรื่องความเหมาะสมเหล่านี้ล้วนแต่ต้องเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น แต่วันนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยตรงนั้นหรือยัง ก็คือยัง เพียงแต่ถึงขั้นที่ให้ฝ่ายกฎหมายนำเรื่องนี้ไปวิเคราะห์ด้วยพิจารณาตามข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อดูว่ามีเหตุผลหรือไม่ ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม ได้ระบุว่า ต้องดูเหตุผลอย่างแท้จริงก่อนที่จะตอบได้ว่า ป.ป.ช.ฟ้องเองแล้วทำไม ป.ป.ช.ถึงไปถอนฟ้อง หากเราไม่มีเหตุผลตรงนี้เพียงพอ ก็จะตอบสังคมไม่ได้ และเรื่องที่สำคัญตามกฎหมาย คือ ถ้ามีเหตุผลแล้วยื่นขอถอนฟ้องไปอำนาจก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะวินิจฉัย ให้หรือไม่ให้ แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่ว่า ป.ป.ช.ยื่นแล้วศาลจะต้องให้

เมื่อถามว่าจะดึงนายวิชา เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณาข้อกฎหมายหรือใหม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า วันนี้ท่านพ้นกรรมการไปแล้ว ดังนั้น กรรมการชุดปัจจุบันจะเป็นผู้พิจารณาเอง

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.วัชรพล เกรงหรือไม่ว่าไม่ว่าคำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร จะถูกวิพากวิจารณ์เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับหนึ่งในผู้ร้อง (พล.ต.อ.พัชรวาท) และเคยเป็นอดีตเลขาฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดย พล.ต.วัชรพลกล่าวว่า “เรื่องนี้ยิ่งสำคัญใหญ่ ผมไม่เคยปฏิเสธว่ารู้จักใกล้ชิดเคยทำงานร่วมกันแต่บริบทการทำงานในปัจจุบัน คือ ในฐานะประธาน ป.ป.ช.ผมเองต้องตระหนักตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าปกติ เพราะถ้าสิ่งไหนไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ก็จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำ เพราะถ้าสิ่งไหนไม่เป็นไปตามบทบัญญัติข้อกฎหมายก็ไม่มีใครทำหรอกครับ เพราะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ”

ขณะที่ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว มีตนเป็นประธาน มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกรรมการ ป.ป.ช.และผู้บริหารระดับสูงในสำนักกฎหมาย และสำนักคดี รวมถึงสำนักคดีที่รับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าวเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยจะพิจารณาตามคำร้องขอความเป็นธรรมของนายสมชาย กับพวกในกรณีดังกล่าว ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาว่า เห็นควรถอนฟ้องคดีหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยจะดูทั้งประเด็นกฎหมาย และเหตุผลในการถอนฟ้องคดี หากเห็นว่ามีเหตุผลไม่สมควร ก็เสนอไปว่าไม่ถอนฟ้อง แต่ถ้าสมควร ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะลงมติกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะถอนฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ อย่างไรก็ดี ท้ายสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มประชุมนัดแรกได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ และจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2559

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 ราย เริ่มมีการหยั่งเสียงกันแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยขณะนี้เสียงยังก้ำกึ่งกันอยู่ ดังนั้น ต้องรอการพิจารณาของคณะทำงานชุดดังกล่าวก่อน จึงตัดสินใจลงมติ


กำลังโหลดความคิดเห็น