xs
xsm
sm
md
lg

ปูดประธาน ป.ป.ช.เล็งยกเลิกฟ้องผิดวินัย “ป๊อด” รับอานิสงส์หลุดบ่วง “7 ตุลาฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (แฟ้มภาพ)
ปูด “บิ๊กกุ้ย” เดินเกมแรง เร่งแก้ระเบียบ ป.ป.ช. ตัดภาระฟ้องคดีอาญา ขรก. ผิดวินัย เหลือแค่คดีโกง เผยสัปดาห์ก่อนจี้ “สำนักกฎหมาย” รีบร่างแก้ไข กม. ป.ป.ช. จ่อชง “บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ลัดขั้นตอน อ้างหวังช่วยเคลียร์ดินพอกงาน ป.ป.ช. จับตาโละทิ้ง “คดีวินัย” ทั้งยวง แถมถอนฟ้องคดีที่อยู่ในชั้นศาลด้วย อานิสงส์ถึง “บิ๊กป๊อด” เต็ม ๆ อาจพ้นบ่วง 7 ต.ค. 51 ด้วย

รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุถึงความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ได้มอบหมายนโยบายแก่หน่วยงานภายในร่วมกันปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ช. ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายทำคดีสำคัญให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 500 คดี ภายในปีงบประมาณ 2559 นี้

แหล่งข่าวภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า หลังจากที่หน่วยงานภายใน ป.ป.ช. ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ร่วมกันเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการทำงานหลายประเด็น รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ได้สั่งการผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เร่งสรุปในประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขระเบียบ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน โดยมีแนวคิดที่จะปรับให้ ป.ป.ช. รับผิดชอบการเสนอฟ้องเฉพาะคดีอาญา อันเกิดจากความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยไม่รวมคดีอาญาที่เกิดความผิดทางวินัย ที่ต้องการให้เป็นอำนาจของส่วนราชการนั้น ๆ โดย ป.ป.ช. มีหน้าที่เพียงชี้มูลความผิดเท่านั้น ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 ทำให้มีข้อกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยาก เพราะต้องผ่านการอนุมัติทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งไปให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่ง

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า จึงมีการเสนอว่า หากต้องการตัดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ป.ป.ช. ต้องทำข้อสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อที่จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 สั่งแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. โดยเน้นไปในประเด็นความรับผิดชอบเสนอฟ้องเฉพาะคดีอาญา อันเกิดจากความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันเท่านั้น

"ท่านประธาน ป.ป.ช.เชื่อว่า หากทำข้อสรุปพร้อมแนบเหตุผลว่า การแก้ไขประเด็นนี้จะช่วยให้การไต่สวนคดีทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งร่างแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช.ไปด้วย เชื่อว่า หัวหน้า คสช.คงให้การสนับสนุน" แหล่งข่าว ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความพยายามของ พล.ต.อ.วัชรพล ดังกล่าว ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ภายในสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า มีนัยซ่อนเร้นเพื่อปกป้องข้าราชการที่มีความผิดเฉพาะการกระทำผิดทางวินัย ซึ่งหากมีการใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช.ในส่วนนี้จริง อาจมีผลทำให้การตรวจสอบคดีความผิดทางวินัยที่อยู่ในกระบวนการของ ป.ป.ช.ต้องหยุดชะงักทั้งหมด รวมไปถึงคดีอาญาที่เกี่ยวกับความผิดทางวินัย ก็อาจมีการเสนอให้มีการถอนฟ้องอีกด้วย ซึ่งรวมไปถึงคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ไปแล้วด้วย

ทั้งนี้ การขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ของ พล.ต.อ.วัชรพล ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นพี่ชายของ พล.ต.อ.พัชรวาท อีกทั้งยังเคยทำงานใกล้ชอดกับทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.พัชรวาท ทั้งในสมัยที่ยังอยู่ในราชการ จนเกษียณอายุราชการ โดยดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร) ก่อนได้รับเลือกเป็น ป.ป.ช. เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น