xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีสลาย พธม.ได้ แต่ต้องอธิบาย-ประชามติระวังคำสั่ง คสช.ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผย ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯได้ เทียบคดีธรรมกาย อสส. ยังถอนมาแล้ว แต่ทำหรือไม่ต้องอธิบายศาล - สังคม ชี้ ทำจริงอาจถูกสงสัยมวยล้มต้มคนดู โดนสอบกัน 7 ชั่วโคตร ย้ำบอกเป็นความรู้ไม่ได้ชี้ช่อง แย้มหลายคดีถอนฟ้องเพื่อความสงบ เตือนเคลื่อนไหว มี กม. ประชามติ แล้ว ยังมีคำสั่ง คสช. เอชสปีดส่อผิด ด่า กรธ. ช่วงเดินสายอาจเจอหมิ่นฯ

วันนี้ (20 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังพิจารณาข้อกฎหมายว่ามีอำนาจในการถอนฟ้องคดีหรือไม่ ภายหลัง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ว่า มีหลักฐานใหม่ว่า ถ้าถามในแง่กฎหมายหรือให้ความรู้ ตอบว่าสามารถถอนได้ ขนาดคดีที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย อัยการสูงสุด (อสส.) ยังเคยถอนฟ้องมาแล้ว แต่ควรถอนหรือไม่ต้องมีเหตุผลอธิบายให้ศาลฟัง และอธิบายให้สังคมรับฟังได้ แต่เมื่อศาลพิจารณาแล้วอาจจะไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องก็ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ช. นี้ กฎหมายของ ป.ป.ช. ไม่ได้เขียนว่าถอนได้ และไม่ได้เขียนว่าถอนไม่ได้ แต่เมื่อ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีนี้เองย่อมสามารถถอนได้

“แต่ถือเป็นความเสี่ยงมาก กรณีฟ้องและถอน เพราะจะเกิดความสงสัย ใครทำอาจโดนสอบกัน 7 ชั่วโคตร เนื่องจากตอนฟ้องก็คิดว่าคุณพิจารณาดีที่สุดแล้ว เมื่ออยู่ ๆ มา คุณมาถอนก็ต้องอธิบายให้ศาลเข้าใจได้ อธิบายให้สังคมเข้าใจได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเข้าใจว่าคุณไปกินสินบนมาหรือเปล่า มวยล้มต้มคนดูหรือเปล่า ขัดกับหลักที่บอกว่าจะดำเนินคดีอย่างจริงจังหรือเปล่า เล่นละครตบตาคนหรือเปล่า อะไรเหล่านี้ มีเหตุผลเยอะแยะ แต่ถ้ามีเหตุผลที่ดีสามารถถอนได้ มันก็จบ แต่ที่พูดไม่ได้หมายความว่าผมบอกให้ทำเถอะ เป็นการให้ความรู้เท่านั้น ซึ่งเรื่องการถอนฟ้องบางครั้งมันก็เป็นนโยบายที่จะให้ถอนเพื่อความสงบเรียบร้อย มีหลายคดีที่ อสส. สั่งไม่ฟ้อง ไม่ใช่ไม่มีความผิด แต่เพื่อเห็นแก่ความสงบเรียบร้อย อย่างเช่น คดีโรฮีนจาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่เป็นเรื่องมนุษยธรรม” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จำเลยอ้างว่า มีหลักฐานใหม่จึงขอให้ถอนฟ้องนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของจำเลยที่ต้องเอาไว้สู้ แต่ถ้า ป.ป.ช. เชื่อในเหตุผลและหลักฐานนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเดินหน้าฟ้องคดีต่อไป เมื่อถามว่า ตามกฎหมายคนที่ถอนฟ้องสามารถถูกฟ้องกลับได้ในความผิดประพฤติมิชอบได้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แน่นอน พอดีพอร้ายคนที่เคยเป็นจำเลยจะกลับมาฟ้องเอง แต่ต้องรอให้ถอนฟ้องเสียก่อน เพราะการที่เขาถูกฟ้องเขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่พักนึง ดังนั้น เมื่อมีการถอนก็แปลว่าเขาไม่ผิดใช่หรือไม่ แล้วตอนนั้นทำไมถึงฟ้องเขา มันโดนได้ทุกอย่าง จึงต้องอธิบายให้ได้

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ว่า ถ้าพูดตาม พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมันชัดว่าอะไรคือความผิด ส่วนอะไรที่ไม่ชัดหรือเทา ๆ อยู่ ต้องไปให้ศาลวินิจฉัย แต่ให้ระวังเพราะนอกเหนือจาก พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฯ ยังมีประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ที่มีผลเป็นกฎหมาย ไม่ถึงขนาดเอาผิด แต่สามารถให้เจ้าหน้าที่ไปห้ามปรามได้ นำตัวมาปรับทัศนคติ หรือนำตัวมาสอบถามได้ เช่น กรณีที่แต่งชุดขาวจุดเทียนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือที่สยามสแควร์ ทำไมถึงเชิญตัวไปได้ โดยไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการรณรงค์ประชามติ คำตอบคือกฎหมายให้อำนาจไว้ ฉะนั้น ให้ระวัง เพราะแม้จะตรวจแล้วว่าไม่ผิด พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฯ แต่อาจจะไปเจอตรงนั้นได้ เพราะมีอยู่และมีมาก่อนเรื่องประชามติ และไม่เกี่ยวกับประชามติ หรือไม่ประชามติ

“อะไรที่ถูกตีความว่าเป็นการเอชสปีด ใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความรุนแรง หรือเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อย อาจจะมีความผิดหรืออาจใช้มาตรการบางอย่างได้ในตัวมันเอง และคงไม่ใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่มีการชุมนุม จะเอามาใช้ก็ต่อเมื่อมีการชุมนุมและเป็นการชุมนุมที่ผิดต่อพ.ร.บ. ชุมนุม หรือกรณีหมิ่นประมาท คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เดินสายชี้แจงแล้วมีคนไปชี้ด่า อาจจะผิดฐานดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท” นายวิษณุ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฉบับล่าสุด ก็ลอกมาจากฉบับปี 50 และการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. โดยตัวมันเองไม่ได้ห้ามการรณรงค์และไม่รู้ว่ารณรงค์แปลว่าอะไร เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัดทิ้งไป แต่บอกว่าพฤติกรรมอย่างไร แอกชันอย่างไร ที่เป็นความผิด ดังนั้น ถ้าผิดก็ผิดตามนั้น ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียนว่าคนนั้นคนนี้ทำผิด เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้เลยหากเข้าข่าย พ.ร.บ. ดังกล่าว และในกฎหมายเลือกตั้งฉบับหน้าก็ยังคงเขียนแบบนี้อีก เนื่องจากเราเคยเขียนอย่างไรก็เขียนอย่างนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประชามติครั้งนี้ เพราะลอกของเดิมมา และการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะเขียนแบบนี้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น