xs
xsm
sm
md
lg

ปูดเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่ ค้าน! “พล.ต.อ.วัชรพล” เสนอเรื่องถอนฟ้อง “สมชาย-ป๊อด-เบื๊อก” คดีสลายพันธมิตรฯ ปี 51

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปูดเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วย เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่ ค้าน! “พล.ต.อ.วัชรพล” ในฐานะ ประธาน ป.ป.ช.เสนอเรื่องถอนฟ้องคดีสลายพันธมิตรฯ ปี 2551 หลังพบ “สมชาย-ป๊อด-เบื๊อก” ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ระบุต่างจากสลายชุมนุมปี 2553 ที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน-ปฏิบัติตามขั้นตอน ยันถ้ามีหลักฐานใหม่ให้นำไปสู้ในชั้นศาล ด้านประธาน ป.ป.ช.รับมีการถกถามอำนาจ ป.ป.ช.ในการถอนฟ้องจริง

วันนี้ (18 เม.ย.) หลังจากเว็บไซต์ MGR Online ได้รับรายงานกระแสข่าวที่ระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเร่งดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 เพื่อลดภาระหน้าที่ในส่วนของการส่งฟ้องผู้ที่ชี้มูลความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางวินัย ตามนโยบายของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่ตั้งเป้าหมายทำคดีสำคัญให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 500 คดี ภายในปีงบประมาณ 2559 นั้น

โดยการประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ที่มี พล.ต.อ.วัชรพลทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และมีกรรมการ ป.ป.ช.เข้าร่วมประชุมรวม 7 ราย มีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ในการขอถอนฟ้องคดีความที่อยู่ในชั้นศาล ซึ่งแต่เดิมไม่มีบรรจุไว้ในทั้ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. หรือระเบียบ ป.ป.ช.แต่อย่างใด ปรากฏว่า ที่ประชุมได้มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้การเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ในการขอถอนฟ้องคดีความที่อยู่ในชั้นศาลได้ โดยมีเพียงนางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงมติไม่เห็นด้วย

นอกจากนั้นยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายใน ป.ป.ช.เกี่ยวกับนัยซ่อนเร้นที่มีการรีบเร่งให้ ป.ป.ช.สามารถถอนฟ้องคดีต่างๆ ได้ โดยมีการคาดหมายว่าคดีสำคัญที่จะได้รับการพิจารณาถอนฟ้องในลำดับต้นๆ คือ คดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งเมื่อปี 2551) เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 และมีการไต่สวนพยานนัดแรกไปแล้ว โดยอาจให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่มีมูลความผิดจากการกระทำผิดทางวินัย จึงควรเป็นอำนาจของหน่วยงานต้นสังกัดในการยื่นฟ้องหรือดำเนินตามกฎหมาย

มีรายงานว่า วันนี้ (18 เม.ย.) พล.ต.อ.วัชรพลได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และคลื่นวิทยุ 96.5 MHz ถึงประเด็นที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องมีอำนาจในการถอนฟ้องคดีที่ ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องเองหรือไม่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์

โดย พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวตอนหนึ่งผ่านรายการดังกล่าว สรุปได้ทำนองว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อเร็วๆ นี้มีการพิจารณากรณี ป.ป.ช.มีอำนาจในการถอนฟ้องคดีที่ ป.ป.ช.ฟ้องเองหรือไม่ “จริง” เนื่องจากนายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากระบุว่ามีพยานหลักฐานใหม่ในคดีดังกล่าว และขอให้เปรียบเทียบกับกรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง

ทั้งสามรายจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นโจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงได้ทำเรื่องถึงคณะอนุกรรมการกฎหมายประจำสำนักงาน ป.ป.ช.ให้พิจารณาในข้อกฎหมายว่ามีอำนาจถอนฟ้องคดีหรือไม่

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาถึงประเด็นนี้แล้ว เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุอำนาจไว้โดยตรง ขณะที่ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ แต่ให้ออกเป็นข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ซึ่งไม่ได้มีการระบุถึงอำนาจในการถอนฟ้อง แต่ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุทำนองว่า ตราบใดที่คดียังไม่ตัดสินถึงที่สุด โจทก์สามารถถอนฟ้องคดีได้ แต่อยู่ในดุลยพินิจของศาล ดังนั้นคณะอนุกรรมการกฎหมายฯ พิจารณาตามกฎหมายแล้ว ป.ป.ช.มีอำนาจในการถอนฟ้องคดีดังกล่าวได้ ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องที่ร้องขอความเป็นธรรม ไม่ว่าใครร้อง ป.ป.ช.จะพิจารณาทั้งหมด เรื่องนี้ก็เช่นกัน ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช.วิเคราะห์ว่าจะรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรม และใช้ดุลยพินิจถอนฟ้องได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่

ด้านสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ระบุถึงรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.วิเคราะห์กรณีนี้แล้ว มีหนังสือตอบกลับไปยัง พล.ต.อ.วัชรพล ว่าไม่สมควรถอนฟ้อง เพราะถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ทำบันทึกกลับมาให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ใหม่ โดยให้เทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2551 และปี 2553 ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ไม่มีกฎเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน แตกต่างกับเมื่อปี 2553 ที่มีกฎหมายรองรับทั้งหมด มีการประกาศ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มีขั้นตอนการปฏิบัติชัดเจน และสถานการณ์ช่วงนั้นพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเกิดเหตุรุนแรง มีทหารเสียชีวิต และมีชายชุดดำที่ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งทั้งสองกรณีไม่เหมือนกัน

ขณะที่สำนักข่าวอิศรายังระบุว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ระบุว่า คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้านให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น