“สมชัย” แจงกฎเหล็ก กกต.คุมประชามติ ครอบคลุมตามหลักกฎหมาย ยันไม่คลุมเครือ และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ใส่เสื้อเยส-โนได้แต่ถ้านัดใส่มาเป็นกลุ่มถือว่าเป็นความเคลื่อนไหว อาจสร้างความวุ่นวาย “เสรี” ติง กกต.ขยายกฎหมายจนสังคมตึงเครียด หวั่น ปชช.สับสน แนะทบทวนใหม่ ระบุให้ชัด อะไรก่อความวุ่นวาย เสนอให้ใบเหลืองเพื่อเตือนก่อนแจ้งความเอาผิด ห่วงใน กม.ไม่มีบัญญัติห้ามรณรงค์ หากส่งถึงศาลอาจวุ่น ด้านนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนหวั่นหากปิดกั้นคนไม่ยอมรับประชามติ ทำร่าง รธน.ไม่น่าเชื่อถือ ส่อเค้าวุ่นไม่เลิก
วันนี้ (2 พ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานราชดำเนินสนทนา หัวข้อ “ประชามติ อะไรทำได้-ไม่ได้” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมประกอบด้วย พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมีนายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
พล.ร.อ.ชุมนุมกล่าวว่า กฎหมายประชามติให้ กกต.เป็นเจ้าภาพหลักซึ่งจะใช้เฉพาะในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่านั้น โดยพยายามสร้างบรรยากาศให้ประชาชนมาใช้สิทธิมากที่สุด และเป็นไปด้วยความสุจริต สงบ ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม โดยใช้เหตุผลในการแสดงความเห็น เป็นที่ยอมรับของประชาชน
ด้านนายสมชัยกล่าวว่า การวางกติกาว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ในการออกเสียงประชามติของ กกต.นั้นยึดหลักการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใน 3 ประเด็น คือ 1. ต้องไม่นำความเท็จมาขยาย 2. ไม่ก้าวร้าวรุนแรง หยาบคาย และ 3. ไม่นำไปสู่การปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง จากหลักการดังกล่าว กกต.จึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าใส่เสื้อเยสหรือโน คนเดียวไม่ผิด แต่ถ้าขายเสื้อถือว่าผิดเพราะเป็นการรณรงค์ ดังนั้นหากมีใครดำเนินการอยู่ขอให้ยุติเพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
สำหรับการออกประกาศนั้น กกต.เขียนด้วยภาษากฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมถึงรูปธรรมที่ได้ตกลงกันไว้จนออกมาเป็นหลัก 6 ข้อ ทำได้ และ 8 ข้อทำไม่ได้ แต่ใน 6 และ 8 ข้อนั้นสามารถขยายได้อีก ทั้งนี้มีการวิจารณ์ว่าประกาศของ กกต.คลุมเครือนั้นต้องชี้แจงว่าการเขียนให้ครอบคลุมทุกพฤติกรรมไม่สามารถทำได้เพราะจะมีเป็นร้อยเป็นพันอย่างกลายเป็นประกาศที่ชาวโลกรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นอะไรไปแล้ว หากดูประกาศกกต.แล้ว จะเห็นว่าไม่ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพราะประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ โดย กกต.ต้องการให้การทำประชามติครั้งนี้ได้รับการยอมรับทั้งกระบวนการจัดทำและผลหลังการลงประชามติด้วย
ขณะที่นายเสรีกล่าวว่า กกต.อยู่ในฐานะลำบากเพราะต้องบังคับใช้กฎหมาย หากอ่อนไปคนก็ไม่กลัว แข็งไปก็จะถูกมองไปอีกด้านหนึ่ง ตนจึงมีความเป็นห่วงว่าการวางแนวปฏิบัติของ กกต.ยังขาดความชัดเจนเพราะนายสมชัยยังแสดงความเห็นส่วนตัวผ่านเฟซบุ๊กว่า มีสิบข้อซึ่งเป็นการขยายจากที่ กกต.ออกประกาศ ทำให้เกิดความสับสนจึงอยากให้ กกต.หารือให้ตรงกันเพื่อแก้ปัญหา ที่สำคัญคือหลักการทำประชามติเรื่องเสรีภาพของบุคคลที่แสดงความเห็นโดยสุจริตไม่ขัดกฎหมาย ซึ่งจะต้องดูกฎหมายอื่นประกอบด้วยไม่ใช่แค่กฎหมายประชามติเท่านั้น เช่น คสช. การหมิ่นประมาท จึงไม่ควรมีการกำหนดว่าทำได้กี่ข้อ ทำไม่ได้กี่ข้อ แต่ต้องสามารถทำได้ทุกเรื่องที่ไม่ขัดกฎหมาย ดังนั้นการแนะนำหลักเกณฑ์หากยิ่งเขียนมากจะยิ่งแคบมากขึ้น
นายเสรีเสนอต่อ กกต.ว่า หากต้องการให้ปัญหาน้อยให้ยึดตัวบทของกฎหมายเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายมาก ยกเว้นกรณีที่ถ้อยคำยังคลุมเครือจึงค่อยยกตัวอย่างในแต่ละอนุว่าในมาตรา 61 ห้ามเรื่องอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามหลังกฎหมายประชามติประกาศใช้มีผลกระทบมากเกี่ยวกับเรื่องการแชร์ข้อความผ่านไลน์เพราะอาจจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายประชามติได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นายเสรียังตั้งคำถามกลับไปยังนายสมชัยว่า กรณีการใส่เสื้อเยสหรือโน โดยไม่มีข้อความรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร เพราะถ้าวางหลักว่าเยสหรือโนก็ผิดจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น จึงเห็นว่าควรดูองค์ประกอบจากการกระทำที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วยโดยต้องมีหลักฐานชัดเจน
นอกจากนี้ ที่บอกว่าห้ามรณรงค์นั้นก็ไม่มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย การจะเอาผิดตามหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชน คือ การทำผิดต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องต่อศาลก็จะเกิดปัญหาตามมา จึงอยากให้ กกต.ทบทวนหลักเกณฑ์ที่ออกมาโดยกำหนดให้เป็นทิศทางเดียวกัน
“ถ้ามองในแง่ดีการกำหนดแบบนี้อาจสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการพัฒนาการเมือง ให้ใช้เหตุผลแทนอารมณ์ แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ประชาชนอึดอัดเพราะ กกต.มากำหนดว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ จนถูกตีความว่าถ้านอกเหนือจากนี้จะเป็นความผิด กกต.จึงไม่ควรเป็นผู้สร้างบรรยากาศความตึงเครียด เพราะในกฎหมายมีการระบุความผิดไว้อยู่แล้วและต้องตีความอย่างแคบว่าอะไรคือความวุ่นวายเพื่อไม่ให้กระทบถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น กกต.ควรอธิบายเฉพาะส่วนที่มีปัญหาว่าอะไรทำไม่ได้เท่านั้นโดยไม่ต้องกำหนดว่าอะไรทำได้เพราะจะทำให้คนคิดว่าถ้านอกเหนือจากนั้นแล้วไม่สามารถทำได้ โดย กกต.ควรแจกใบเหลืองก่อนเพื่อเตือนกรณีเห็นว่ามีความผิดก่อนที่จะมีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ประชาชนจะได้สบายใจว่าลงประชามติไม่ได้นำไปสู่การเข้าคุก”
จากนั้นนายสมชัย ได้ใช้สิทธิที่ถูกพาดพิง ชี้แจงกรณีที่ระบุว่าความเห็นของตนไม่ตรงกับ กกต.เพราะมีสิบข้อแต่ประกาศของ กกต.มีแปดข้อนั้น ความจริงตรงกันเพียงแต่มีการขยายความเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการโพสต์กับการแชร์ข้อมูล พร้อมกับยืนยันว่า กกต.ไม่ได้อ่อนไหวเกี่ยวกับการกดไลค์แต่ให้ความสำคัญกับการโพสต์และแชร์ ดังนั้นจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะแชร์ข้อมูลและการเขียนข้อความเพิ่มด้วยจะถือว่าเป็นการโพสต์เอง เช่น กรณีที่มีเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งถูกดำเนินคดีนั้นก็เป็นเพราะมีการเขียนข้อความหยาบคายเพิ่มเติมจากการแชร์ข้อมูลทำให้เข้าข่ายผิดกฎหมาย
ส่วนเสื้อเยสหรือโนขอย้ำว่าใส่ได้เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ถ้านัดใส่พร้อมๆ กันเพื่อเคลื่อนไหวที่ใดที่หนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเป็นขบวนการที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย แม้ไม่ผิดกฎหมายประชามติก็ผิดกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง จึงต้องฝากไปถึงนายเสรีว่า ถ้าไม่มีความชัดเจนเลยก็จะทำให้มีศรีธนญชัยหลีกเลี่ยงกฎหมายจนทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายได้
ส่วนนายไพโรจน์กล่าวในมุมมองของนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เหตุการณ์ในขณะนี้ไม่ปกติและกฎหมายประชามติก็ไม่ปกติ จึงอยากให้คิดถึงหลักการทำประชามติว่าเป็นการขอให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นการลงประชามติต้องไม่อยู่ในบรรยากาศความกลัวหรือการกดดันเพราะจะทำให้ไม่มีอิสระ ยิ่งถ้าให้หน่วยงานรัฐไปชี้แนะก็ทำให้ประชาชนไม่มีอิสระในการตัดสินเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้จะต้องให้เวลาประชาชนได้ถกเถียงในเนื้อหาจะได้ตัดสินบนพื้นฐานข้อมูลที่ทั่วถึงเพียงพอทั้งสองด้าน แต่ในกฎหมายประชามติมีการคุ้มครองหน่วยงานรัฐและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งในทางปฏิบัติบุคคลเหล่านี้ย่อมชี้แจงแต่ส่วนดีแต่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายประการทั้งควบคุมเนื้อหาและวิธีการ
“ตอนนี้ไม่ใช่บรรยากาศการทำประชามติเลย หากมีการปฏิเสธว่าวิธีการทำประชามติไม่ถูกก็จะเกิดปัญหา ความขัดแย้งไม่มีทางคลี่คลายภายใต้บรรยากาศแบบนี้ หากให้ฝ่ายหนึ่งพูดได้ แต่อีกฝ่ายถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็น ซึ่งเชื่อว่าสื่อจะเซ็นเซอร์ตัวเอง แล้วมันจะเป็นยังไงประเทศนี้จะได้รับรัฐธรรมนูญที่ยอมรับและเชื่อถือได้อย่างไร เพราะประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง จึงควรเปิดโอกาสให้วิจารณ์ได้โดยผู้ที่แสดงความเห็นก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองโดยยึดหลักกฎหมาย”
นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้มีการคุมเรื่องเนื้อหาแทนที่จะไปควบคุมเรื่องพฤติกรรม ทั้งที่ต้องเปิดโอกาสให้สองฝ่ายพูด โดยตนคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่บรรยากาศที่มีหลักการมากกว่านี้ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจากการรัฐประหารปี 2549 แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เนื่องจากดูเหมือนว่าไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างให้แสดงออกอย่างเพียงพอเพราะถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย ในขณะที่อีกฝ่ายบอกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติได้ อย่างนี้กลับไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ