xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ก็เรียกว่าต่อไปนี้ คือช่วงที่คนไทยจะได้ค่อยๆ นั่งอ่านรัฐธรรมนูญกัน เพื่อไปชี้ชะตาในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม หรืออีกราวๆ 3 เดือนที่จะถึงนี้

เป็น 3 เดือนที่สถานการณ์การเมืองน่าจะพลิกไปพลิกมาได้เรื่อยๆ เพราะฝ่ายที่ต่อต้าน คสช.จะต้องอาศัยช่องของการโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญนี้แสดงพลังอย่างหนึ่งอย่างใดแน่ๆ

โดยเฉพาะเกมที่พยายามชูว่า กระบวนการทำประชามตินี้ไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะมีการจำกัดในการแสดงความคิดเห็นไปเสียทุกอย่าง

เมื่อเปิดดูมาตรา 61 ของกฎหมายประชามติที่ว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

มาตรานี้เองที่เป็นเหมือนมาตราที่เอาไว้สกัดทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว เพราะถ้าทำเช่นนั้น มีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปีซึ่งทางฝ่ายผู้รับผิดชอบกฎหมายนั้นก็ออกมาขู่ว่าจะดำเนินคดีโดยไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย กปปส.อย่างกำนันสุเทพ หรือฝ่าย นปช.คือจตุพร พรหมพันธุ์ เรียกว่าจะมารณรงค์ให้คนไปโหวต Yes หรือ No ก็ผิดเท่ากันหมดนั่นแหละ

ส่วนการแสดงความคิดเห็นอย่างไรจะสามารถทำได้นั้น ก็ต้องให้ กกต.ไปวางระเบียบกันต่อไป

แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการพิจารณาว่า การออกมาแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้นคือ “ศาลยุติธรรม” ไม่ใช่ กกต.

เพราะเนื้อหาของมาตรา 16 ที่ยกมานั้น ไม่ใช่องค์ประกอบความผิด แต่เป็นบทสันนิษฐานความผิด

หาก “องค์ประกอบความผิด” ที่แท้จริงนั้นอยู่ใน (1) คือ “ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

นั่นคือศาลจะพิจารณาการกระทำเป็นรายกรณีๆ ไป ว่าผู้แสดงความคิดเห็นมีเจตนาอย่างไร เพื่อจะก่อความวุ่นวายให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ โดยอาศัยหลักเรื่องกรรมคือเครื่องชี้เจตนา อันเป็นทฤษฎีทั่วไปในการตีความการกระทำว่าผิดกฎหมายอาญาหรือไม่

ถ้าสมมติว่าใครสักคนไปจัดสัมมนาด้วยท่าทีแม้จะสงบเรียบร้อย ไม่ใช้คำหยาบคายใดๆ แต่ว่าพูดลากออกไปนอกเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการปลุกระดมทางการเมืองไปเสียหมด ก็ไม่แน่ว่าจะรอด

สรุปก็คือว่า รอบนี้ทาง “ผู้จัด” หวังจะให้ประชาชนแต่ละคนไปอ่านรัฐธรรมนูญกันเงียบๆ ตัวใครตัวมัน อาจจะมาคุยกันได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะการชุมนุมทางการเมือง

หรือใครขี้เกียจอ่านเอง ก็ฟังที่ กรธ.เขาจะมาสรุปออกสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสารมวลชนอื่นก็ได้

ส่วนประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้น เอาเข้าจริง อาจจะต้องยอมรับแบบโลกไม่สวยว่า อาจจะต้องขึ้นกับแรงกระเพื่อมทางการเมือง หรือ “สัญญาณ” จากฝั่งการเมืองด้วย

เพราะหากจะกล่าวกันจริงๆ ในสภาวะปกติแล้ว มีใครบ้างในประเทศนี้สนใจในเรื่องรัฐธรรมนูญบ้าง อย่าว่าแต่ชาวบ้านทั่วไปเลย นักกฎหมายที่ไม่ใช่สายกฎหมายมหาชนบางทียังไม่เคยอ่าน หรืออ่านก็แต่เฉพาะเรื่องที่ตัวเองต้องใช้

ประชาชนทั่วไปอาจจะพิจารณาเพียงว่า ระบบการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน นายกฯ มาจากใคร ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ประเทศไทยก็ต้องเป็นราชอาณาจักรอันแบ่งแยกมิได้ และการเลือกตั้งก็ต้องเป็นระบบผู้แทน เลือก ส.ส.ไปทำหน้าที่ในสภาฯ ส่วนวุฒิสภานั้นอาจจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็แล้วแต่

ส่วนนายกฯ นั้นควรจะต้องเป็น ส.ส.หรือมาจากคนนอกก็ได้ ยังเป็นเรื่องต้องถกเถียงกันอยู่ ก็จะเป็นประเด็นที่จะต้องว่ากันต่อไป

และกับคำถามพ่วงว่า คน “ยินดี” ที่จะให้มีการปฏิรูปต่อไป โดยให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกหาตัวนายกรัฐมนตรี (ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นคนนอก และน่าจะเป็นคนที่คาดเดาได้ไม่ใช่แปลกหน้ามาจากไหน) จะโอเคหรือไม่

เรื่องนี้อาจจะต้องดูว่า ฝ่ายการเมืองเขาจะมองอย่างไร จะยอมเลือกตั้งแบบมีอำนาจกึ่งๆครึ่งๆ แบบนี้ หรือจะไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญเลย แล้วรอดูท่าทีว่า คสช.จะรับมือกับแรงกดดันเหล่านั้นได้อย่างไร

หากเรามองอย่างไม่โลกสวย ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นกับเครือข่ายทางการเมืองจริงๆ

ผู้มีสิทธิลงประชามติในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 49 ล้านคน สมมติว่ามาใช้สิทธิเท่าครั้งที่แล้ว (ปี 2550 ประมาณ 57%) ตีกลมๆ ว่า 28 ล้านคน ซึ่งครั้งนี้เป็นไปได้ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติมากขึ้นด้วย เพราะเป็นเสมือนสนามรบของผู้ที่เอาการปฏิรูปกับไม่เอาการปฏิรูป หรือเอาการเมืองแบบของนักการเมือง กับไม่เอาการเมืองแบบนักการเมือง

คะแนนเสียงเฉลี่ยปาร์ตี้ลิสต์ของเครือข่ายอำนาจเก่าจากการเลือกตั้งสองครั้ง อยู่ที่ประมาณ 12-14 ล้านเสียง สมมติว่ามีสัญญาณอะไรออกมา การันตีว่า 10 ล้านเสียงที่เคยเลือกพวกเขานั้น ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ส่งผลนัยสำคัญอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้ามีสัญญาณ “คว่ำ” ออกมาละก็ถือว่าชะตากรรมของรัฐธรรมนูญก็น่าเป็นห่วง เพราะเท่ากับว่าเสียงเหล่านั้นจะไปรวมกับเสียงคนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช.เสียงคนที่ไม่เอานายกฯ จากคนนอก หรือไม่โอเคกับวุฒิสภาแต่งตั้ง หรือแม้แต่คิดว่ารัฐบาลแก้ปัญหาประเทศก็ไม่ได้ ปฏิรูปก็ไม่เห็นผลรวมๆ กันทุกกลุ่ม ก็นับว่าสุ่มเสี่ยงมาก

แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน และชาวไทยทุกคน ใช้เวลา 3 เดือนนี้ศึกษาตัวบทร่างรัฐธรรมนูญให้ดีอย่าให้ใครชี้นำ

แล้วคิดเอาเองว่า อยากเห็นอนาคตของสภาฯ แบบไหน นายกฯ มาจากใคร การใช้อำนาจของพวกนักการเมืองจะจำกัดรูปแบบไหน แล้วไปออกเสียงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของเรา.
กำลังโหลดความคิดเห็น