xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เมินเชิญต่างชาติดูประชามติ รอเลือกตั้งค่อยเรียกมา ซัดพวกท้าทายทำให้วุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีรับให้ต่างชาติสังเกตุการณ์ประชามติทำได้ แต่ห่วงมีค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย และเป็นช่องป่วน จึงไม่จำเป็นต้องเชิญ ไว้ค่อยเรียกตอนเลือกตั้งปี 60 แต่ถ้าอยากมาก็ให้ไปคุยกับกรรมการการเลือกตั้ง ชี้พวกท้าทายทำให้วุ่น หนุนคนจัดโหวตแจงอะไรทำได้หรือไม่ แนะหน่วยไหนรณรงค์ต้องหารือ กกต.ก่อน

วันนี้ (27 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์การทำประชามติว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่จะเหมาะสมหรือไม่นั้นซึ่งในที่ประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีค่าใช้จ่าย การดูแลเรื่องความปลอดภัย มีภาระ และจะเป็นช่องทางให้เกิดความไม่สงบได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชิญมาอย่างเป็นทางการ และคิดกันว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2560 ต้องเชิญมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครทุกฝ่าย เพราะจะมีเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่กรณีประชามติไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่มีการแข่งขัน ประชาชนบอกว่ารับหรือไม่รับก็จบ แต่หากองค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามาเองก็สามารถทำได้ แต่ต้องไปคุยกับ กกต.เอง ตนเชื่อว่าการทำประชามติครั้งนี้ กกต.สามารถดำเนินการเองได้

เมื่อถามถึง ที่ กกต.แจ้งความเอาผิดผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มันวุ่นวายตั้งแต่เริ่มทำอะไรท้าทาย ส่วนการเข้าไปจัดการจะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ความเหมาะสมพอสม ถ้ามากเกินไปก็ไม่ถูก การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ กับผู้ที่อาจมีพฤติกรรมกระทำความผิด เขาอาจรู้อะไรบางอย่าง แต่ถ้าสิ่งที่เจ้าหน้าที่รู้มาไม่ถูก ความผิดก็ไม่มีอยู่แล้ว ถ้าเรื่องไปถึงศาลก็ยกฟ้องหรือเจ้าหน้าที่อาจถูกฟ้องกลับ สุดท้ายใครทำอะไรแม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ตนเห็นด้วยกับบางฝ่ายที่เรียกร้องให้ กกต.ออกมาชี้แจงให้ชัดว่าอะไรที่ทำได้ไม่ได้ ถูกผิด ดำ ขาว เทา ทั้งนี้การทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นั้นเป็นหน้าที่หลัก กกต. ส่วนราชการไหนจะร่วมรณรงค์ก็ต้องหารือ กกต. แต่ถ้าไม่ปรึกษา กกต. ก็จะต้องเสี่ยงเอาเอง

นายวิษณุกล่าวอีกว่า หากกรณีผลการทำประชามติให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านนั้น จะต้องกลับไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ขณะที่กรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่านก็สามารถประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านทุกอย่างจบก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คำถามพ่วงผ่าน การจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องคำนึงถึงผลประชามติคำถามพ่วงว่ามากพอหรือไม่อย่างไร และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่ใช้ก็ได้ และตนไม่ขอตอบว่าควรหรือไม่ควร


กำลังโหลดความคิดเห็น