รองประธาน สปท. แนะทั้งฝ่ายหนุน-ค้านร่าง รธน.เสนอข้อดี-เสียด้วยเหตุผล ติงนำร่างอื่นมาเป็นทางเลือกทำสับสน เหตุฉบับเดียวยังเข้าใจยาก เป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอย แนะโฟกัสศึกษาร่าง “มีชัย” ให้เข้าใจถ่องแท้ว่าจะรับไม่รับ ผลเป็นยังไงล้วนมีทางออกตาม รธน.ปัจจุบัน
วันนี้ (17 เม.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 กล่าวว่า กรณีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนั้น ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดย กกต.มีหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้มีสิทธิอิกเสียงเกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่มีถึง 279 มาตราเพื่อประกอบการตัดสินใจซึ่งการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแม้เพียงฉบับเดียวก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ฉะนั้นแต่ละฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจึงควรเสนอประเด็นข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะรับหรือไม่รับด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้ประชาชนเห็นมุมคิดหลายๆ ด้านที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
“ต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีความสลับซับซ้อนสัมพันธ์โยงใยในแต่ละหมวดแต่ละมาตรา และมีความยากในตัวเองอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้การออกเสียงประชามติทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงกำหนดให้พิจารณาเพียงฉบับเดียว ดังนั้น การจะให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาเป็นทางเลือกเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนั้นจะทำให้เกิดความสับสนและเพิ่มความยากในการทำความเข้าใจมากขึ้น และยังไม่สอดคล้องต่อข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”
ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพราะในช่วงการไตร่ตรองว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนจะคิดเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ตนเองชื่นชอบ บางคนนิยมรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2521 บางคนชอบรัฐธรรรมนูญปี 2550 หรือปี 2517 การตีกรอบเพียงรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นคู่เทียบหรือแทนร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย หรือข้อเสนอจะให้ผสมผสานรัฐธรรมนูญหลายฉบับเป็นทางเลือกโดยยังไม่ตกผลึกว่าจะมีรูปโฉมเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอยยากจะเป็นไปได้ภายในเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการออกเสียงประชามติ
“ผมคิดว่าเรากำลังเดินทางสู่การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งภายในปีหน้าตามโรดแมป ก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนและกรอบเวลาดังกล่าว โดยโฟกัสการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย และคำถามพ่วงประชามติให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามีจุดดีและจุดด้อยอะไรบ้างก่อนตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร ล้วนมีทางเดินทางออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน” นายอลงกรณ์กล่าว