กกต. คลอดร่างระเบียบประชามติ 3 ฉบับ ถกไม่จบอะไรทำได้ไม่ได้ - รับไม่รับเรื่องร้องเรียนคดีอาญา รอเคาะ 29 เม.ย. รวมถึงปมไม่รับเรื่องร้องเรียน เตรียมดึง 6 ช่องฟรีทีวี ร่วมเผยแพร่ประชามติ ด้าน 54 องค์กรวิชาชีพสื่อ จี้ กกต. ให้หลักประกันการทำหน้าที่
วันนี้ (25 เม.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... 2. ร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... 3. ร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนการออกเสียง การจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ... คาดว่า จะการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้ในวันเดียวกัน และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนออะไรทำได้ไม่ได้ในการออกเสียงประชามติ ซึ่ง กกต. ได้ถกเถียงกันมาก เพราะต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกเสียงประชามติ โดยมีการยกกรณีต่าง ๆ มาหารือ และเห็นว่า ควรปรับปรุงร่างข้อเสนอให้ชัดเจน รวมถึงรอประธาน กกต. กลับจากเดินทางดูงานต่างประเทศ จึงจะมีการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. และประธานจะแถลงเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง
“ยืนยันว่าแนวทางที่ กกต. จะประกาศยึดความเป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ การสัมภาษณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่งข้อความผ่านไลน์ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ไม่ขัดกฎหมาย แต่ต้องไม่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถ้าทำโดยบุคคลต้องมีมูลค่าเหมาะสม เช่น ติดป้ายขนาดเล็กหน้าบ้าน ทำได้ แต่ถ้าทำเป็นกลุ่ม ก็เสี่ยงว่าเป็นการรณรงค์ไม่ควรทำ หรือติดป้ายขนาดใหญ่บนอาคาร ก็ไม่เหมาะสม ดังนั้นการทำต้องยึดหลักหลักฎหมาย กระทำโดยสุจริตใจ ซึ่งในวันศุกร์ กกต. ประชุมและประธาน กกต. จะเป็นผู้แถลงแนวปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยจะมีกรณีตัวอย่างที่คิดว่าเป็นรูปธรรมเพียงพอ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการจัดอภิปรายเชิงวิชาการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และสื่อมวลชน สามารถจัดอภิปรายได้ ถ้ากลุ่ม องค์กรอื่นที่ต้องการจัดอภิปรายต้องจัดร่วมกับ 3 หน่วยงานนี้เท่านั้น และการแสดงความเห็นต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ไม่มีการปลุกระดม ข่มขู่ ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนว่า แนวทางที่ กกต. ออกมาไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง การกระทำบางอย่างอาจคาบเกี่ยวขัดประกาศ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้จัดงานต้องรับผิดเอง แต่ถ้าสืบได้ว่าเหตุการณ์ที่ทำให้บานปลายเกิดจากบุคคลภายนอก ก็ต้องเอาผิดกับคนนั้น
เมื่อถามว่า พ.ร.บ. ประชามติมีผลบังคับใช้แล้ว การบังคับใช้ครอบคลุมถึงการแสดงความคิดเห็นของนายกฯ ด้วยหรือไม่ นายสมชัยปฏิเสธจะตอบคำถาม ระบุสั้นๆ ว่า “เป็นคำถามหาเรื่อง พ.ร.บ. ประชามติ ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการกฎหมาย ฉะนั้นขอให้ไปถามประธาน กกต.”
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนแนวปฏิบัติในกรณีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือร้องคัดค้าน กกต. จะเปิดทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร แจ้งด้วยตัว แม้ขณะนี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติชัดเจน หากมีผู้มาร้องเรียนจะรับไว้ก่อน แล้วนำมาพิจารณาว่า ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนผิดคดีอาญาจะแนะนำให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หากเป็นคำร้องคัดค้าน กกต. ก็รับพิจารณา หากเรื่องนั้นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฝ่ายบ้านเมืองก็จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการร้องเรียนคดีอาญา กกต. จะเป็นผู้เสียหายแทนผู้ร้องหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่กฎหมายบัญญัติให้ กกต. ดูแลการออกเสียงเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ซึ่งที่ประชุมมอบให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนไปวางแนวปฏิบัติ โดยวางหลักการว่า ต้องไม่ให้ประชาชนที่เป็นผู้ร้องว้าเหว่
สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการทำประชามติ กกต. จะเชิญผู้บริหารสถานีฟรีทีวี 6 สถานี ประกอบด้วยช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ไทยพีบีเอส มาหารือและให้จัดสรรเวลาช่วงไพรม์ไทม์ ระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น. เพื่อเผยแพร่กิจกรรมฯ ที่ กกต. กำหนดไว้ 2 รูปแบบ รวม 12 ครั้ง ออกอากาศครั้งละครึ่งชั่วโมง โดย 6 ครั้งแรกจะเป็นเรื่องชี้แจงขั้นตอนการออกเสียงประชามติ โดย กกต. 2 ครั้ง เนื้อหารัฐธรรมนูญโดย กรธ. 3 ครั้ง และเหตุผลการมีคำถามพ่วงโดย สนช. 1 ครั้ง ส่วน 6 ครั้งหลัง จะให้แต่ละสถานีไปตกลงกันเกี่ยวกับการเสนอเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ออกอากาศอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้สถานีคัดเลือกพิธีกรและแขกรับเชิญเอง แต่รูปแบบรายการต้องสนทนาไม่ใช่ดีเบต ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะเป็นการบันทึกเทปและนำมาอากาศซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาและรูปแบบรายการสถานีต้องไม่ให้ขัดกฎหมาย
วันเดียวกัน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ นำโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ นายสปัน รักเชื้อ อุปนายกสมาคมฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้ายื่นข้อห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ผ่าน นายประวิช รัตนเพียร กกต. โดยเห็นว่า พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ มีเนื้อหาที่กระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จึงขอให้ กกต. ให้หลักประกันที่ชัดเจนกับสื่อมวลชนทุกแขนงที่ทำหน้าที่รายงานข่าวตามหลักจริยธรรม ว่า จะได้รับการคุ้มครองไม่ และให้ กกต. ออกระเบียบ ข้อแนะนำ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ กกต. ทุกระดับ