กกต. แจงเวทีเสวนา มองเลือกตั้งระบบบัตรเดียว แม้ประหยัดมากขึ้น แต่ไทยยังเกรงใจ ส.ส. เขตอยู่ ถ้าไม่อยากให้พรรคเล็กลำบาก ต้องทำแบบญี่ปุ่น ไม่ต้องหาเสียง ชี้นักการเมืองยังเอาชนะอยู่ดี ติดอยู่ที่กระบวนการปล่อยผี ส.ส. ประกาศก่อนสอยทีหลัง แจง พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว ย้ำรูปแบบไม่ต่างจากเลือกตั้งทั่วไป พร้อมระบุฟ้องล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 มีประชาชน 234 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) จัดเวทีเสวนา “หนึ่งคน หนึ่งเสียง บัตรหนึ่งใบหรือ สองใบ” โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ทุกครั้งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดต้องคาดหวังว่าเป็นการออกแบบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ฝ่ายเห็นต่างก็จะคาดการณ์ผลไปอีกเรื่อง ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดูทั่วโลกเขาก็มีรายละเอียดย่อยในระบบเลือกตั้งเป็นร้อย ซึ่งทุกประเทศก็บอกว่าของเขาดี
อย่างออสเตรเลีย ประชาชนต้องเลือกแบบใส่ลำดับ ซึ่งซับซ้อนพอสมควร ต้องนับคะแนน 3 สัปดาห์ ถึงจะรู้ผล แต่คิดว่าถ้าใช้กับประเทศไทยคงประท้วงกันแหลกลาญ หลักการที่ฟังแล้วคล้ายกัน คือ ไม่เห็นด้วยกับระบบวันพาสเดอะโพสต์ ที่ผู้ชนะเอาไปหมด และมีคะแนนทิ้งน้ำจำนวนมาก ฝ่ายหนึ่งบอกต้องเป็นสองใบ อีกฝ่ายเป็นใบเดียว ประหยัดมากขึ้น แต่คิดว่าทั้งสองฝ่ายยังมีจุดอ่อน คือ ถ้าไม่ต้องการทิ้งน้ำ จำนวน ส.ส. สองระบบต้องเท่ากัน ถามว่ากล้าหรือไม่ เพราะประเทศไทยยังเกรงใจ ส.ส. เขตอยู่
“ถ้าระบบบัตรเดียวทำให้พรรคเล็กมีต้นทุนเยอะไปก็ต้องทำให้ระบบการเลือกตั้งมีต้นทุนต่ำ เช่น แบบญี่ปุ่น ผู้สมัครไม่ต้องหาเสียง แค่จ่ายค่าโปสเตอร์ให้ กกต. พิมพ์และกำหนดจุดติด และให้โอกาสนำเสนอทางสื่อเท่าเทียมกัน เวลาหาเสียงน้อยลง แปลว่าต้องเป็นคนดีของสังคม และทำดีมาตลอดชีวิต ก็จะลดต้นทุนและแก้ปัญหาพรรคเล็กได้” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า เรายังบอกผลที่เกิดขึ้นก่อนไม่ได้ กกต. มีสิทธิ์เพียงออกแบบการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งมองเชิญเทคนิคแล้วต้นทุนน้อยกว่า ประชาชนเป็นภาระน้อยกว่า การนับการคำนวณคะแนนง่ายกว่าทั้งหมดลดลงเป็นสองเท่า ถ้าถามว่าจะซื้อเสียงมากขึ้นหรือไม่หากเป็นใบเดียวนั้น เห็นว่า ความพยายามเอาชนะทำให้นักการเมืองต้องซื้อเสียง หากกระบวนการเอาผิดไม่เข้มแข็งพอ ทำให้หลายคนเสี่ยงที่จะทำทุจริต กระบวนการในอดีตออกแบบทำให้ กกต. ทำงานไม่ได้ คือให้ประกาศก่อนสอยทีหลัง ทำให้นักการเมืองยิ้ม เพราะเป็น ส.ส. เป็นผู้มีอำนาจและข่มขู่พยานยุ่งเหยิงคดีได้ในระยะเวลาที่จะรอถูกสอย ทำให้ความเกรงกลัวที่จะถูกลงโทษไม่มี
จากนั้น นายสมชัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย มี 60 มาตรา โดยจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 15 มี.ค. นี้ ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ จากเดิมตั้งใจจะทำบัตรสองใบ โดยแยกเป็นแบบรับเเละไม่รับ และอีกใบเป็นคำถามที่สอง แต่ภายหลังจากพูดคุยมีข้อสรุปให้ใช้เป็นบัตรใบเดียวแทน เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ ส่วนประเด็นอื่น กกต.จะเน้นเรื่องการควบคุมการลงเสียงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโปร่งใสมากที่สุด
สำหรับข้อกังวลว่าจะมีการจำกัดสิทธินั้น ยืนยันว่า ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างโปร่งใส รูปแบบการลงคะเเนนก็จะใช้ฐานการลงคะแนนแบบเดียวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการลงโทษผู้กระทำความผิดแบบเดียวกับการทำผิดเลือกตั้งเช่นเดียวกัน แต่จะเน้นที่ตัวข้าราชการหากกระทำผิดจะถูกลงโทษเป็นสองเท่ามากกว่าประชาชนทั่วไป
สาระสำคัญอีกอย่าง คือ การเผยแพร่ผลโหวตอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่ง กกต. จะจัดให้มีการเผยแพร่หลังจากมีการนับคะแนนไปแล้วร้อยละ 95 ส่วนผลอย่างเป็นทางการนั้นจะมีผลได้หลังจาก 3 วันนับจากเลือกตั้ง เนื่องจากมีหลายพื้นที่ห่างไกลต้องใช้เวลาในการขนส่งหลายชั่วโมง
เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต. มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายการจัดเลือกตั้งเมื่ออวันที่ 2 ก.พ. 2557 นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กกต. มีมติที่ประชุมแล้วว่า กลุ่มคนที่จะมีการฟ้องร้องมี 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งมี 234 คนทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สร้างให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ การฟ้องร้องครั้งนี้เพื่อเรียกค่าเสียหายแก่แผ่นดิน ความเสียหายจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นเงินของรัฐ ไม่ใช่เพื่อองค์กร อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฟ้องร้องแต่ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้น ดังนั้น ยังไม่มีใครผิด แต่ กกต. มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาลต่อไป