ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เดินหน้าร่วมเวที “เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไปชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?” ที่สมาคมนักข่าว ด้านทหาร มทบ.42 เปิดเวทีหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวบ้านรับไม่ได้ วิจารณ์สนั่นในสังคมออนไลน์ ด้านบิ๊ก กฟผ.ยังพล่านไม่หยุด ถึงขั้นแชร์เฟซบุ๊กฟ้องนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (17 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังที่จากที่ชาวบ้าน และนักศึกษาในเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา และคัดค้าน ม.44 รวมทั้งคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีการไปยื่นหนังสือแล้วที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี
และในวันนี้ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ จะเข้าร่วมเวทีราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไปชาวบ้านจะพึ่งพาใคร?” ในเวลา 10.00-12.30 น. ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 ตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ทหารมณฑลทหารบกที่ 42 ได้จัดเวทีทำความเข้าใจเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่โรงแรม เทพาบีช โดยมีการเกณฑ์ชาวบ้านเข้าร่วมเวที ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ รายหนึ่งได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว (ข้อมูลตามรูปภาพ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวของชาวบ้านไปที่เฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมเขียนข้อความระบุว่า
“กราบเรียนท่านนายกฯ คำกล่าวด้านล่างยังคงคลาดเคลื่อน ชาวเทพาส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้า อยากเห็นการพัฒนาบ้านเมือง ไม่มีการย้ายมัสยิด กูโบร์ ตามที่อ้างครับ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดในหนังสือที่เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี มีข้อมูลตอนหนึ่งระบุว่า...การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิด และกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเนาะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง ทะเลจะถูกทำลาย ประมงพื้นบ้านอาจสาบสูญ มลพิษทางอากาศจะแพร่กระจายไปไกล
“โครงการดังกล่าวยังได้สร้างความแตกแยกในชุมชน กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพา และชายแดนใต้ที่มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้”