ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาค 4 ขอให้นำปัญหาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขเพื่อลดภัยแทรกซ้อน
วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้าค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ได้ยื่นหนังสือให้แม่ทัพภาค 4 ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า นำปัญหาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาบรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขเพื่อลดภัยแทรกซ้อนยิ่งโหมไฟใต้ โดยมี พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาค 4 รับหนังสือ
รายละเอียดหนังสือ ด้วยเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยับยั้งโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในสิทธิชุมชน ของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งปัญหาเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้คือ มหันตภัยจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งจะใช้เนื้อที่เกือบ 3,000 ไร่ และพื้นที่ทะเลอีก 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างรุนแรงของประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดอื่นๆ แม้แต่น้อย
เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกๆ ด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำลายวัฒนธรรม วิถีชุมชน และประมงพื้นบ้าน การทำลายศาสนธรรมอันดีงาม จะมีการย้ายมัสยิด วัด กุโบร์ และโรงเรียนปอเนาะ ทำลายสุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงินซื้อผู้นำ และประชาชนในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา แล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลย นอกจากมลพิษ หายนะ และความแตกแยกในชุมชน
อนึ่ง ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เชื่อว่า มหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นไม่ใช่แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังดำเนินการโดย กอ.รมน.นั้น ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย
เพราะได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวง ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กฟผ.ที่ใช้วิธีการที่ไม่ชอบธรรม และใช้อำนาจอิทธิพลมาผลักดันโครงการฯ อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกับประชาชนกันเอง และประชาชนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จะมีการเผยแพร่ชุดข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อสาธารณะ และชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องต่อไป
ดังนั้น ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) จึงขอให้ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จากผลกระทบของมหันตภัยของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บรรจุเป็นวาระของกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ และพิจารณาสั่งยกเลิกโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการพูดคุยสันติสุขตามนโยบายของความมั่นคงแห่งชาติเพื่อลดภัยแทรกซ้อนยิ่งโหมไฟใต้สู่การมีบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขต่อไป
ด้าน นายดิเรก เหมนคร สมาชิกเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) กล่าวว่า วันนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือให้แม่ทัพภาคที่ 4 โดยมี พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาค 4 รับหนังสือแทน หลังจากรองแม่ทัพภาค 4 รับหนังสือ ได้กล่าวต่อทางเครือข่ายว่าจะนำหนังสือที่ทางเครือข่ายฯ ยื่นส่งถึงแม่ทัพภาค 4
นายดิเรก กล่าวอีกว่า หลังจากหนังสือที่ยื่นซึ่งมีรายละเอียด และเหตุผลในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาแล้ว ได้พูดเสริมให้รองแม่ทัพภาค 4 ได้รับทราบว่า ช่วงที่ผ่านมา ขบวนการเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่ชอบธรรม และสถานที่ก่อสร้างก็ไม่เหมาะสม เพราะชุมชนต้องได้รับผลกระทบ 200 กว่าครอบครัว ต้องโยกย้าย มีมัสยิด ปอเนอะ กุโบร์ วัด ต้องได้รับผลกระทบ