ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ย้ำชัด! เครือข่ายประชาชน จว.ชายแดนภาคใต้จัดเวทีต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซัดมีแต่ “หายนะ” ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก่อนรวมตัวฟังข้อมูลจากอาจารย์-ผู้นำท้องถิ่น พร้อมร่วมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ “”นายกฯ” สั่งยกเลิกโครงการอย่างเป็นทางการโดยทันที
วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ม.4 บ.คลองประดู่ อ.เทพา จ.สงขลา มีกิจกรรมจัดเวทีต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเครือข่ายชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ศูนย์ Kampung Damai ประจำ ต.ท่ากำชำ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เครือข่ายเทพารักษ์ถิ่น เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำสายบุรี กลุ่มนาซิจาโป ม.อ.ปัตตานี ชมรมรักษ์บ้านเกิดทุ่งพอ-สะบ้าย้อย ชมรมอนุรักษ์ฯ ม.อ.ปัตตานี LEMPAR PERMAS เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมเวทีจาก จ.ปัตตานี จ.สงขลา ทั้งจาก อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ ประมาณ 300 คน
อ.ดิเรก เหมนคร กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) เป็นองค์กรเครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยับยั้งไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในสิทธิชุมชนของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้ คือ มหันตภัยจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เวทีในวันนี้เป็นเวทีให้ข้อมูลแก่ผู้ที่มาร่วมเวทีอย่างเช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ จะใช้พื้นที่เกือบ 3,000ไร่ และพื้นที่ทะเลอีกประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่กลับมีการศึกษาผลกระทบเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบในพื้นที่ จ.ปัตตานี แม้แต่น้อย
อ.ดิเรก ยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การทำลายวิถีชุมชน และประมงพื้นบ้าน การทำลายมิติทางศาสนธรรมอันดีงาม โครงการจะมีการย้ายมัสยิด วัด กุโบร์ และโรงเรียนปอเนาะ ทำลายสุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงินซื้อผู้นำ และซื้อทุกอย่าง ประชาชนในพื้นที่ อ.เทพา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากมลพิษ หายนะ และความแตกแยกในชุมชน
อนึ่ง ทางเครือข่าย PERMATAMAS เชื่อว่า มหันตภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ไม่ใช่แค่เพียงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกำลังดำเนินการโดย กอ.รมน.นั้น ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย เพราะได้สร้างบรรยากาศความหวาดระแวง ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กฟผ.ที่ใช้วิชามาร และใช้อำนาจอิทธิพลมาผลักดันโครงการ
อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกับประชาชนกันเอง และประชาชนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ทั้งนี้ ทางเครือข่าย PERMATAMAS จะมีการเผยแพร่ชุดข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อสาธารณะ และชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องต่อไป
อ.ดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิจารณาสั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่า เทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อเห็นแก่ความมั่นคงของประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงแห่งชาตินั้น และเพื่อการส่งเสริมกระบวนสันติภาพชายแดนใต้ อันจะช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสงบ ร่มเย็น สันติสุขอย่างแท้จริง และยั่งยืน สอดคล้องตามเจตนารมณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เป็นอีกคนที่ร่วมเวทีได้กล่าวว่า ถ่านหินมีสารโลหะหนักซึ่งเป็นสารอันตราย สามารถจะก่อมะเร็งได้หลายตัว กระบวนการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีการเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง กระบวนการเผาจะก่อให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ฝุ่นนี้จะมีโลหะหนักผสมอยู่ หากเข้าสู่เส้นเลือดทำให้เป็นโรคปอด หัวใจ มะเร็ง โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีปล่องของโรงไฟฟ้าที่มีความสูงเท่ากับตึกประมาณ 60 ชั้น ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพียง 5 กิโลเมตร ตามที่มีการศึกษาผลกระทบอย่างแน่นอน ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงไม่ใช่เรื่องของคน อ.เทพา จ.สงขลา เพราะควันลอยไปถึง จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.สตูล แต่ความหนาแน่นของสารพิษแตกต่างกัน
ด้าน นายรอหีม มุเซะ โต๊ะอิหม่ามบ้านปะโอน อ.เทพา จ.สงขลา กล่าวว่า มัสยิด กุโบร์เป็นที่แยกออกจากกันไม่ได้ มัสยิดเป็นศูนย์รวมใจ สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของเรา จะให้ย้ายให้สร้างใหม่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ จะให้เป็นสถานที่อนุรักษ์ไม่ได้ เรื่องมัสยิด กุโบร์ เราไม่อยากพูดถึงแล้ว มันเป็นสิ่งที่มีความเจ็บช้ำน้ำใจของเรา ในด้านพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่นา มีการทำนาหลายพันไร่ ได้มีการสนับสนุนให้ปลูกข้าวช่อขิงปลอดสารพิษส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่คน อ.เทพา มาอย่างต่อเนื่อง หากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อสร้างในพื้นที่ขึ้นสิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายอย่างแน่นอน เราอยู่แบบนี้มีความสุขแล้ว อย่ามารบกวนกันอีกเลย
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน จะมีสะพานยื่นออกไปในทะเล 3,000 เมตร มีการปักเสาลงในทะเลไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง บริเวณพื้นที่ อ.เทพา มีลม 8 ทิศ จะทำให้มลพิษกระจายไปทั่ว ในส่วนของน้ำโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะมีการดูดเข้ามาใช้ในการหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าจำนวนมาก จากนั้นก็มีการปล่อยลงสู่ทะเล สารพิษก็กระจายไปทั่วทะเล มีบ่อขี้เถ้า 700 กว่าไร่ สารพิษก็ซึมลงสู่ผืนดิน สิ่งที่กังวลที่สุดในตอนนี้คือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยที่คน จ.ปัตตานี ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะเกิดโครงการอะไรขึ้นในพื้นที่เลย ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
ด้าน นายคอนดูน ปาราเร่ ประธานชมรมอนุรักษ์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า จากการลงพื้น อ.เทพา เพื่อศึกษาชุมชนทำให้เห็นว่าทะเล อ.เทพา คือ แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญมาก คือ ตู้เอทีเอ็มของชาวบ้าน การพัฒนาที่เกิดขึ้นจะทำลายสิ่งเหล่านี้ อยากให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และจะมีส่วนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้รับทราบข้อมูล และได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะงานการเก็บข้อมูลชุมชน ซึ่งนักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมได้ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาช่วยเหลือชุมชนในงานด้านวิชาการ ซึ่งเป็นงานที่เหมาะสมต่อสถานศึกษา
ฮัจยะฮ์สุไรด๊ะ โต๊ะหลี จาก อ.จะนะ กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ พี่น้องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ครบทุกด้าน ทั้งงานวิชาการ มิติทางศาสนา และข้อมูลชุมชน ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง และที่สำคัญคนพื้นที่ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบนั้นถึงขั้นรุนแรง พวกเราจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อรักษาแผ่นดิน ทรัพยากรของพวกเราเอาไว้ อย่าให้คนบางกลุ่มได้เข้ามาเอาประโยชน์ และมาทำลายบ้านเรา ที่ทำมาหากินของเรา
ฮัจยะฮ์สุไรด๊ะ กล่าวอีกว่า คนพื้นที่มีความเจ็บปวดมาก จากกรณีที่คณะกรรมการกลางอิสลามออกหนังสือสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาดังกล่าว โดยไม่ได้มาศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และไม่เคยถามความต้องการของคนพื้นที่ ประเด็นสำคัญคือ คนพื้นที่ได้ชี้ให้เห็นมาตลอดว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทุกมิติ แต่ไม่มีใครรับฟัง และยังนำองค์กรทางศาสนาไปรับใช้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมาะสมชอบธรรมแล้วอย่างนั้นหรือ