ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีสื่อสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเผยรัฐบาลตั้งเป้าสร้างสันติสุขให้เกิดในชายแดนใต้ภายใน 3 ปี ขณะที่เครือข่ายนักศึกษา และประชาชนขึ้นอ่านแถลงการณ์ยืนยันหากรัฐยังเดินหน้าผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สันติสุขที่คาดหวังคงไม่เกิดขึ้นโดยง่าย
วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้มีการจัดงานสื่อสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 โดย พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ปาฐกถาในหัวข้อความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า เชื่อว่าเหตุการณ์จะสงบใน 10 ปี แต่รัฐบาลมีเป้าหมายเร่งรัดให้เกิดสันติสุขใน 3 ปี นั่นคือปี 2560
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนที่เข้าร่วมเวทีกังวลว่า หากปล่อยให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่สร้างความแตกแยกให้ชุมชน สร้างมลพิษให้ชาวบ้าน สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรม เชื่อว่าสันติสุขที่รัฐบาลคาดหวังคงไม่เกิดขึ้นโดยง่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรมได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายโดย นายคอลดูล ปาลาเร่ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาฯ เป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์ ระบุว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานรากของการสร้างสรรค์ และเอื้อเฟื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สถานการณ์ความไม่สงบนั้นเป็นความรุนแรงที่รับรู้ได้โดยตรง แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นความรุนแรงที่ซ่อนเร้น ที่ปล่อยมลพิษทุกวัน ทำลายสิ่งแวดล้อม ชีวิต สุขภาพ และวิถีชุมชนทุกวัน
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีการปล่อยมลพิษจำนวนมาก ทั้งฝุ่น โลหะหนัก สารอินทรีย์ก่อมะเร็ง เถ้าลอย รวมทั้งน้ำเสียจำนวนมากที่ปล่อยลงทะเล จะมีบ่อเก็บเถ้าเกือบพันไร่ ป่าชายเลนจะเสื่อมโทรม ท่าเรือที่ยื่นยาวไปในทะเลจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เรือขนถ่านหินที่เข้าออกจะทำลายระบบนิเวศในทะเล ประมงพื้นบ้านจะสาบสูญ ชุมชนเกษตรกรรมจะสลายตัวไป ผู้คนจะเจ็บป่วยเป็นมะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง นี่คือการพัฒนาแบบตักตวงของนายทุนที่คนปาตานีไม่ต้องการ
แต่สิ่งที่น่ารังเกียจ และฉ้อฉลอย่างยิ่งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือ การที่ กฟผ.ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างลักไก่ มีการกำหนดขอบเขตการศึกษาหลักเพียง 5 กิโลเมตร ทั้งในการศึกษาเรื่องมวลสาร และโดยเฉพาะผลกระทบในมิติทางสังคม เพื่อไม่ให้รัศมีการศึกษาล้ำเข้ามาในเขตแดนจังหวัดปัตตานี เห็นคนปัตตานีเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ใส่ใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนปาตานี อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูล และการแสดงความเห็นนั้นก็ไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น ค.1, 2, 3 ในพื้นที่ปัตตานีเลย เป็นความขลาดกลัวต่อการเปิดเผยความจริงของโครงการที่มีผลกระทบมากมายต่อคนในพื้นที่
เครือข่ายนักศึกษามีจุดยืนที่ชัดเจนในการยับยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกๆ ด้าน ทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การทำลายวัฒนธรรม วิถีชุมชน และประมงพื้นบ้าน การทำลายศาสนธรรมอันดีงาม จะมีการย้ายมัสยิด วัด กุโบร์ และโรงเรียนปอเนาะ ทำลายสุขภาวะทางสุขภาพร่างกาย และสร้างความฉ้อฉลจากการใช้เงินซื้อผู้นำ และประชาชน สร้างความแตกแยกในชุมชน
เครือข่ายนักศึกษาขอเรียกร้องให้ทุกกลุ่มองค์กร และทุกฝ่ายได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลรายละเอียดผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะนำมาซึ่งการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสกปรกในพื้นที่ชายแดนใต้ เช่น ที่ปานาเระ และการขุดเหมืองลิกไนต์สะบ้าย้อยเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจึงประดุจเป็นตัวแม่ของความหายนะที่เราทุกฝ่ายต้องช่วยกันหยุดยั้งให้ได้
“สันติสุขของชายแดนใต้ไม่ได้หมายถึงการปราศจากการยิง การระเบิดเท่านั้น แต่ต้องปราศจากมลพิษ ปราศจากความฉ้อฉล ความไม่เป็นธรรม ปราศจากการทำลายฐานชีวิตฐานทรัพยากรชุมชนด้วย มิเช่นนั้นก็จะเป็นเพียงสันติสุขจอมปลอมที่เป็นเพียงวาทกรรมขายฝัน สันติภาพชายแดนใต้ต้องเดินควบคู่กับการหยุดภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงจะนำสันติสุขสันติภาพมาสู่พื้นที่ได้จริง”
ต่อจากนั้น เป็นการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (คปตส.) หรือ Southern most people network of community right and environment safeguard for peace Persekutuan rakyat menpertahankan hak masyarakat kampung dan sumber daya alam untuk kedamaian (PERMATAMAS) โดย นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า
ตลอดระยะเวลา 12 ปีของการเกิดสถานการณ์ไฟใต้ เชื้อไฟแห่งความรุนแรงที่สำคัญที่สุดที่ถูกเติมเข้ามาให้ไฟใต้ยังลุกโชนจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ความอยุติธรรม ความรู้สึกที่ประชาชนถูกภาครัฐที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งกรณีของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ก็เช่นเดียวกัน
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีขนาดถึง 2,200 เมกะวัตต์ สร้างบนเนื้อที่ 3,000 ไร่ เผาถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัมต่อวันตลอด 24 ชั่วโมง มีปล่องควันสูงไม่น้อยกว่าตึก 60 ชั้น มีสะพานท่าเทียบเรือยื่นลงไปในทะเลไม่น้อยกว่า 3 กิโลเมตร มีเสาต่อม่อสะพานไม่ต่ำกว่า 1,000 ต้น มีเรือขนาดใหญ่ขนถ่านหินไปมาในระยะ 15 กิโลเมตร ทุกวันไม่น้อยกว่า 4 เที่ยวต่อวัน นอกจากจะสร้างมลพิษ ฝุ่น ขี้เถ้า ฝนกรดจำนวนมหาศาลให้แก่คน และพื้นที่ในระยะ 100 กิโลเมตรแล้ว
สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งคือ การที่ต้องย้ายชุมชน และชาวบ้านออกจากพื้นที่หลายร้อยหลังคาเรือน ประมาณ 1,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดคือพี่น้องมุสลิมที่เกิดที่ฝังรกราก และฝังกระดูก สร้างบ้าน สร้างเรือน สร้างชุมชนอยู่อาศัยกันอย่างสงบสุขมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ในพื้นที่ก่อสร้างยังมีมัสยิด 2 แห่ง มีบาลาเซาะ (สุเหร่า) 1 แห่ง มีสุสาน หรือกุโบร์ 2 แห่ง รวมทั้งมีกุโบร์โบราณของชุมชนโบราณอยู่ที่นั่นด้วยอีก 1 แห่ง มีวัด 1 วัด และมีโรงเรียนปอเนาะตะเย๊าะซูตีบอที่เก่าแก่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย
ความตั้งใจของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา คือ ต้องย้ายออกไปทั้งหมด แต่เมื่อได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากคนในพื้นที่ กฟผ.จึงชี้แจงร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยบางคนว่า ศาสนสถานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมัสยิด บาลาเซาะ กูโบร์ ปอเนาะ หรือวัด จะไม่มีการย้าย แต่จะได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ชุมชน และชาวบ้านต้องย้ายออกไปทั้งหมด ต้องมีการถมดินสูงอย่างน้อย 5 เมตร
ซึ่งศาสนสถานทั้งหมดตกอยู่ท่ามกลางโครงการฯ ที่เป็นแหล่งผลิตมลพิษต่างๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ศาสนสถานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมัสยิด บาลาเซาะ กูโบร์ ปอเนาะ และวัด แม้จะยังตั้งอยู่แต่ก็จะไร้ความหมาย หมดคุณค่าในทางศาสนา และหลักศรัทธา เพราะจะไม่มีเสียงอะซาน จะไม่มีการละหมาด จะไม่มีการอ่านอัลกุรอาน จะไม่มีการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซุบฯ อีกต่อไป จะไม่มีโรงเรียนตาดีกา ไม่มีการเรียนการสอนศาสนาอีกต่อไป ไม่มีสายตาที่หันมองกูโบร์ จะไม่มีการฝัง การเยี่ยมเยียนกูโบร์อีกต่อไป
ทุกอย่างจะถูกกั้นถูกปิดด้วยรั้วลวดหนามรั้วกำแพง ศาสนสถาน มัสยิดบ้านของอัลลอฮ์ ซุบฯ กูโบร์ บ้านของบรรดาผู้ยำเกรงกลายเป็นเพียงอาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่ต่างจากศาลพระภูมิที่คนขับรถคอยบีบแตร หรือคนเดินผ่านคอยยกมือไหว้ นี่คือสะท้อนการทำลายทุกอย่างที่มาในรูปของการพัฒนา แต่ซ่อนเร้นปิดบังอำพรางการทำลายฐานรากฐานความคิด และความเป็นชุมชนของผู้คนในแถบนี้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เปราะบางมากต่อการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้
นอกจากนี้ กระบวนการจัดมวลชนสนับสนุนของ กฟผ.เองก็ใช้วิธีการสกปรก ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้เงินซื้อประชาชน ซื้อผู้นำศาสนา ซื้อแม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคง ในปัจจุบันมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นฝ่ายความมั่นคงที่เป็นกลาง คอยเฝ้าระวังปัญหา และความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามบานปลาย แต่วันนี้ มทบ.42 กลับออกมาจัดเวทีชี้แจงข้อดีของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร่วมกับ กฟผ.และผู้สนับสนุนเสียเอง และยังออกคำสั่งคุกคามปิดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา อีกด้วย
ทั้งๆ ที่เป็นการดำเนินกิจกรรมอย่างสงบสันติสอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายทหารได้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองกับประชาชน ทหาร และ กฟผ.ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศความหวาดระแวง ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และใช้อำนาจอิทธิพลทั้งเงิน และปืนผลักดันโครงการฯ อีกทั้งยังได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนกันเอง และประชาชนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลียงไม่ได้
นี่คือส่วนหนึ่งของประเด็นสำคัญแห่งความไม่เป็นธรรมที่จะเป็นภัยแทรกซ้อนต่อสันติภาพชายแดนใต้ หากจะดับไฟใต้ก็ต้องดับไฟถ่านหินที่เทพา สงขลา เสียก่อน อย่าลืมว่าเทพาเป็นพื้นที่หนึ่งของปัญหาไฟใต้ เพราะเป็นโครงการพัฒนาที่มีการทำลายศาสนา ทำลายวิถีชีวิต ทำลายฐานทรัพยากรชุมชน ทำลายสุขภาพ และทำลายความสุขความสงบสมานฉันท์ของคนในชุมชนชายแดนใต้ เป็นโครงการมหันตภัยจากน้ำมือของคนเพียงบางกลุ่มบางพวกที่จะสร้างความหายนะ สร้างความสั่นคลอน ความสงบสุขของคนชายแดนใต้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 40 ปีของอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอาจจะสูญเสีย ไม่สามารถที่จะเรียกสันติภาพชายแดนใต้กลับคืนมาได้อีกต่อไป