xs
xsm
sm
md
lg

คำถามพ่วง ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ คนนอก-สอดไส้อำนาจจนมึน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ต้องเรียกว่านี่คือ “แผนสอดไส้อำนาจ” เข้ามาในจังหวะช่วงชุลมุนที่ชาวบ้านกำลังมึนงง รังเกียจพฤติกรรมของนักการเมืองก่อนหน้านี้ สอดแทรกเข้ามาได้แบบสะดวก และทำท่าจะรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ “จากคืบกำลังจะกลายเป็นศอก” แล้ว

แน่นอนว่าทุกฝ่ายกำลังเฝ้าจับตามองกันว่าในวันที่ 7 เมษายนนี้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติการตั้งคำถามพ่วงไปกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับปี 2559 ที่ร่างโดยคณะของ มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยประมวลจากความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งคำถามที่คาดว่าจะชงกันขึ้นมาแบบเป็นขั้นเป็นตอนก็คือคำถามให้ “รัฐสภาเป็นคนโหวตเลือกนายกฯ” หรือไม่

หากพิจารณาจากคำถามแล้วถ้าออกมาแบบนี้ก็ต้องบอกว่า “หมกเม็ดซ่อนความรู้สึก” กันตั้งแต่ต้น เพราะแทนที่จะใส่กันแบบตรงๆ ว่าให้ “ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ” ก็เกรงว่าจะไปสะกิดต่อมความรู้สึกของชาวบ้านให้ไหวตัวจนอาจพลิกไปอีกทางหนึ่งก็ได้ การที่ใช้คำว่า “รัฐสภา” ความหมายที่ซ่อนอยู่ก็คือ ทั้งวุฒิสภากับ สภาผู้แทนราษฎรนั่นแหละ ที่มีรายละเอียดที่มาต่างกันคือ ส.ว.นั้นมาจากการแต่งตั้ง หรือมีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าในบทเฉพาะกาลยังกำหนดให้ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.ร่วมโหวตงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อให้เลือกนายกฯ คนนอก นอกเหนือบัญชีของพรรคการเมืองได้อีกด้วย

ดังนั้น หากสามารถตั้งคำถามแบบนี้ได้แล้วโหวตประชามติผ่านก็ถือว่า “ได้สองเด้ง” และยังหมายถึงต่อไปนี้ประเทศไทยจะกลายเป็น “รัฐข้าราชการ” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทนที่ “นักการเมือง” ไปอีกพักใหญ่ ซึ่งไม่รู้ว่าชาวบ้านจะฉุกคิดในเรื่องแบบนี้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ว.สรรหาจำนวน 250 คนนั้นยังเปิดทางให้ “ข้าราชการประจำ” เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ นอกเหนือจากที่ล็อกเอาไว้ 6 เก้าอี้สำหรับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และอย่าได้แปลกใจที่เราจะได้เห็น ส.ว.ที่มาจากบิ๊กข้าราชการทหาร ตำรวจ อธิบดี ผู้ว่าฯ ที่พอสืบไปสืบมาจะพบว่าใกล้ชิดกับ “บิ๊กคนนั้น” ซึ่งรับรองว่าต้องเป็น “สายของ คสช.” เท่านั้น

แม้ว่าจะอ้างว่า ส.ว.จะไม่อาจร่วมโหวต หรืออภิปรายซักฟอกรัฐบาลได้ แต่ความหมายก็คือจะไปโหวตไล่ทำไมในเมื่อตัวเองเป็นคนที่ร่วมโหวตตั้งมากับมือตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดีก็ต้องขึ้นอยู่กับชาวบ้านว่าจะเอาแบบไหน จะยอมรับได้หรือไม่ เพราะถือว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ชาวบ้านรู้สึกเฉยๆ กับเรื่องข้อเสนอนายกฯ คนนอก หรือ ส.ว.แต่งตั้ง หรืออาจเป็นยังรู้สึกกระอักกระอ่วนจนพูดไม่ออกจากพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของนักการเมือง พวกนักเลือกตั้งทั้งหลายจนเข็ด และที่ผ่านมาทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ตอบสนองอารมณ์ร่วมของสังคมในเรื่อง “ปราบโกง” เอาไว้อย่างเข้มข้นกันไปแล้ว แม้ว่าต้องไปโดน ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายเข้าอย่างจังก็ตาม แต่สำหรับคนทั่วไปถือว่าโอเค ยกเว้นอีกฝ่ายที่โดนเข้าไปเต็มๆ ถึงกับชักดิ้นชักงอกันอยู่ในเวลานี้

ดังนั้นหากพิจารณาจากทั้งสองเรื่องดังกล่าว นั่นคือ ทั้งเรื่องคำถามที่แปลงใหม่ให้ “เนียน” แทนที่จะถามโดดๆ ว่าให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก็เปลี่ยนใหม่เป็น “ให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ” ซึ่งก็หมายถึงให้ ส.ว.(แต่งตั้ง) ร่วมเลือกนายกฯ แล้วทีนี้ต่อมาก็คือ นายกฯ ที่โหวตเลือกนั้นก็มีการเปิดช่องให้ยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีของพรรคการเมือง ซึ่งให้ ส.ว.มีส่วนในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการได้ และในที่สุดก็ให้ ส.ว.ร่วมโหวตหานายกฯ หากทำได้สำเร็จ ลงประชามติผ่าน ทุกอย่างก็เรียบร้อยโรงเรียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ถึงเวลาที่ต้อง “แปลงกาย” ซ่อนรูปกันใหม่ในอีกอย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี การผลักดันทั้งสองเรื่องดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกมึนหรือสับสนกันเองหรือเปล่า เพราะหากคำถามที่พ่วงไปกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าเกิดผ่านขึ้นมามันก็ต้องมา “แก้รัฐธรรมนูญใหม่” อีกรอบในตอนหลัง เพราะในร่างที่ชาวบ้านลงประชามติให้ผ่านนั้น ส.ว.ไม่สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯได้ ซึ่งจะมีวิธี “หมกเม็ด” แบบไหนตามมาอีกยังเดาไม่ออก แต่ที่ผ่านมา ทั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็เคยบอกแล้วว่ามันถามพ่วงในเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ขณะที่ วิษณุ เครืองาม ก็บอกว่าหากจะให้เป็นไปได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญในภายหลัง ซึ่งพิจารณาแล้วมันก็ยังงงๆ และสับสนเอาการอยู่เหมือนกัน

ขณะที่ฝ่ายพรรคการเมืองในฟากของพรรคเพื่อไทย แน่นอนอยู่แล้วว่าพวกเขาไม่ยอมรับและทำทุกทางเพื่อคว่ำให้ได้ ส่วนฝ่ายประชาธิปัตย์แม้ว่ายัง “แทงกั๊ก” เพราะลึกๆ พวกเขาก็ได้ประโยชน์จากการ “บ่อนเซาะ” พรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยลงไป เพียงแต่ว่าระดับหัวหน้าพรรคน่าจะหมดสิทธิ์ลุ้นเป็นนายกฯ คนต่อไป เพราะตามรูปการณ์ที่เห็นอยู่เขา “สงวนเอาไว้สำหรับซูเปอร์บิ๊ก” ในหมวดนายกฯ คนนอกที่จะเปิดเผยกันแบบกะทันหันก่อนโหวตเท่านั้น

เอาเป็นว่าไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ทุกอย่างมันเหมือบกับ “ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า” แล้ว เพราะถ้าผ่านประชามติก็รับไปเต็มๆ แต่ถ้าพลิกล็อกไม่ผ่านมันก็ไม่มีปัญหา อาจจะได้มากกว่าเดิมเพราะมีการประกาศล่วงหน้าแล้วว่าอาจจะเอาร่างของ มีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับแก้ไขใหม่ ซึ่งอาจ “หงายหลัง” มากกว่าเดิมก็เป็นได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น