เมืองไทย 360 องศา
หากบอกว่างานนี้วัดดวงส่งผลถึงอนาคตและการควบคุมอำนาจในวันข้างหน้า หรืออย่างน้อยก็ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ก็คงไม่ผิดนัก และภายใต้บรรยากาศและอารมณ์ของสังคมที่กำลัง “เสื่อมศรัทธา” กับนักการเมืองอย่างหนัก ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็สามารถนำมาสร้างกระแสบิดเบือนไปอีกทางหนึ่งได้ไม่ยาก เหมือนกับความรู้สึกที่สังคมเฉยชากับการเลือกตั้ง รวมไปถึงเรื่อง “นายกฯ คนนอก” ที่ล่าสุดผลจากการสำรวจความเห็นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ยังยอมรับได้เสียอีก มันก็ยิ่งเปิดทางสะดวก
ทั้งที่สิ่งที่ต้องเป็นคำถามก็คือเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จะให้ไปทางไหน จะให้เป็นแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากลอย่างแท้จริงหรือไม่ เป็นประชาธิปไตยที่มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดและเป็นธรรม ซึ่งเราต้องออกแบบ “ที่มา” ของกลไกการตรวจสอบที่เป็นอิสระและโปร่งใสกันได้อย่างไร เพราะที่มาตรงนี้ต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างหลักประกันอันมั่นคงสำหรับอนาคตของบ้านเมือง ไม่ใช่หวังพึ่งพาตัวบุคคล หรือ “คณะบุคคล” ใด
และคำถามสำคัญก็คือในอนาคตเมื่อเรามีการเลือกตั้ง เราต้องมีนักการเมืองที่ผ่านมาการตรวจสอบที่เข้มงวดเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้อย่างไร และเราจะลดบทบาทของข้าราชการลงหรือไม่ และทหารจะยอมถอยกลับเข้ากรมกองหรือไม่ และยอมเป็นกลไกของรัฐบาลได้แค่ไหน
วกกลับมาที่ความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างฯ ที่เพิ่งมาข้อสรุปออกมาให้เห็นแล้วหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอภายใต้คำเรียกขานว่า “มาจากแม่น้ำ 4 สาย” นั่นคือ 1. ข้อเสนอที่ขอให้วิธีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยส่วนนี้คำขอแก้ให้เหตุผลมาว่า มีผู้เสนอมามากให้ใช้การเลือกตั้งแบบนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอจากแม่น้ำ 4 สายโดยตรง กรธ.จึงเห็นว่าจะไม่กำหนดเนื้อหาส่วนนี้ไว้ในบทเฉพาะกาล และให้ใช้การเลือกตั้งใบเดียว รูปแบบวิธีนับคะแนนตามบทหลักเหมือนเดิม
2. ข้อเสนอเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการสรรหาทั้งหมด 250 คนนั้น กรธ.เห็นว่าในระยะแรก 5 ปี ให้มีการสรรหาทั้ง 250 คน โดย 200 คนมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา 8-10 คนที่ คสช.ตั้งขึ้น และอีก 50 คน ขอให้เป็นไปตามที่ กรธ.บัญญัติไว้ คือให้สรรหาจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ซึ่งจะได้ทั้งสิ้น 231 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาของ คสช.คัดเลือกอีกครั้ง ให้เหลือ 50 คน ทั้งนี้ เป็นการพบกันครึ่งทาง เพื่อให้เรามีประสบการณ์สำหรับการเลือกตั้งทางอ้อม ส.ว.แบบที่กำหนดไว้ในบทหลัก ขณะที่อีก 200 คนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา โดยกำหนดให้ ส.ว.6 คนสามารถเป็นข้าราชการประจำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเหล่าทัพเหมือนตามคำขอ
“ส่วนอำนาจให้มีอำนาจตามปกติ กล่าวคือร่วมผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ สำหรับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในบทการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ให้สมาชิกทั้ง 2 สภามีส่วนร่วมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะไม่ให้ ส.ว.มีสิทธิเปิดและลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร”
3. ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น กรธ.เห็นว่ายังคงให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ กรธ.กำหนดทางออกให้ ส.ส.สามารถเข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของ 2 สภา และให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี"
หลายคนมองว่านั่นคือการ “พบกันครึ่งทาง” แต่หลายคนก็มองไปอีกทางว่านั่นคือ “การซ่อนรูปกินรวบ” ต่างหาก เพราะในที่สุดแล้วปลายทางทั้งตำแหน่ง “นายกฯ คนนอก” และ ส.ว.สรรหา (แต่งตั้ง) ล้วนมาจาก คสช.ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากผลสรุปของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมาดังกล่าว สามารถสำรวจท่าทีของคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลับออกมาแบบต่างกัน ซึ่งหลายคนกำลังรอท่าทีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ที่ประเทศจีน แต่ล่าสุดเมื่อได้ฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันว่า “นายกฯ โอเค”
แต่ก่อนหน้านั้น สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้า คสช.กลับมีท่าทีในทางตรงกันข้าม ยังคงยืนยันให้ข้อเสนอของ คสช.ได้รับการตอบสนองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การโหวตเลือกนายกฯ นอกบัญชี” ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเอาไว้ล่วงหน้า หรือการกำหนดให้สงวน 6 เก้าอี้ ส.ว.เอาไว้ให้กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ อ้างว่าเพื่อร่วมรับฟังและรับรู้ปัญหารวมทั้ง “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ส่วน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนก็เพื่อภารกิจปฏิรูปบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แต่คำถามก็คือขนาดมีอำนาจเต็มมือในตอนนี้กลับไม่เห็นผลงานปฏิรูปเป็นชิ้นเป็นอันสักเรื่องเดียว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลสรุปของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ จะใช้ความสามารถเฉพาะตัว “ซ่อนรูป” จนแทบมองไม่ออกแล้วว่า “อำนาจแท้จริง” ยังอยู่ในมือของ คสช.อยู่ดี เป็น “ผู้กำหนดเกม” เหมือนเดิมก็ตาม เพียงแต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเท่านั้น เช่น การสงวน 6 เก้าอี้ ส.ว.สำหรับข้าราชการประจำ ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเมื่อกรรมการสรรหาแต่งตั้งโดย คสช.ทุกอย่างมันต้องออกมาตามคาดหมายอยู่แล้ว ในตอนแรกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังต้องการให้เป็น “ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้” ต้องกินรวบเต็มร้อย แต่เมื่อ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย และตามมาด้วยคำพูดที่อ้างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่านายกฯ โอเค จนล่าสุด พล.อ.ประวิตรก็ออกมาพูดใหม่ว่า “รับได้”
ดังนั้น นาทีนี้หากพิจารณาจากภาพรวมถือว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการขัดเกลาอย่างแยบยลจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ย่อมทำให้ ระดับบิ๊กในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “มีแต่ได้กับได้” อย่างน้อยกับการสร้างเครือข่ายอำนาจจะครอบคลุมไปทุกหัวระแหงในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่พวกเขาอ้างว่านี่คือ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ส่วนจะผ่านจากไหนไปไหนหรือจากใครไปหาใคร ทุกสายตาย่อมมองไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น โดยเฉพาะสายตาจับจ้องไปที่คนหลังว่ากำลังเดินหน้าเต็มกำลังหรือไม่!