ศาลรัฐธรรมนูญสัมมนามุมมองร่าง รธน.ฉบับใหม่ ประธาน กรธ.ชูหลักคิด 3 ประการ สกัดโกงให้เหลือน้อยที่สุด แก้ปัญหาคนไม่มีวินัยเอาแต่เรียกร้องสิทธิ ใช้ กม.ให้เข้มงวด บอกเขียนปรับเปลี่ยนให้ชาวบ้านอุ่นใจรัฐไม่เบี้ยว เผยแก้ทุุจริตต้องแบนคนมีประวัติ เน้นการศึกษาบังคับอนุบาล-ก่อนวัยเรียน ปฏิรูปตำรวจใน 1 ปี ยันเพิ่มการมีส่วนร่วม โยนรัฐใหม่คิดปฏิรูปใน 5 ปี อ้างทำร่างแบบเฉลี่ยความสุข อย่ามองแต่แง่ร้าย ยังแก้ใน กม.ลูกได้ โวสิทธิประชาชนไม่ได้ด้อยกว่าเดิม ปัดศาล รธน.มีอำนาจเพิ่ม ชี้องค์กรอิสระต้องถูกตรวจสอบด้วย
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “มุมมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ในวาระที่ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 18 ปี โดยมีนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนา จากนั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แสดงปาฐกถาพิเศษถึงหลักคิดในการร่างรัฐธรรมนูญว่าเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ 3 ประการ คือ 1. สกัดกั้นการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เหลือน้อยที่สุด 2. ปัญหาความไม่มีวินัยของคนที่เรียกร้องสิทธิโดยไม่นึกถึงหน้าที่ ทำให้กระทบกระเทือนสิทธิคนอื่นจนเกิดความวุ่นวาย ซึ่งเกิดจากการศึกษาไม่ได้มุ่งให้คนเกิดวินัย 3. การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดกวดขัน ส่วนหนึ่งอ้างว่ากำลังคนไม่พอ แต่ส่วนที่สำคัญคือผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทำตามผู้บังคับบัญชาและผู้มีอิทธิพลสั่ง ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาสามประการนี้ทำให้สิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญไม่เกิดผลไม่ว่าจะเขียนละเอียดอย่างไรก็ตาม
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า มีความตั้งใจร่างรัฐธรรมนูญแบบสั้นแต่ครอบคลุมกว้าง เพราะในทางกฎหมายอะไรยิ่งเขียนละเอียดยิ่งแคบแต่ถ้าเขียนกว้างจะวิวัฒนาการตามสังคมได้สอดคล้องกับอนาคต โดยวางหลักใหม่ว่าถ้าไม่มีอะไรห้ามประชาชนสามารถทำได้หมด แต่ความรู้สึกของประชาชนมีความไว้ใจรัฐน้อยลงเนื่องจากเคยเบี้ยวประชาชนมามาก จึงมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มในส่วนที่สร้างความอุ่นใจกับประชาชนแต่ไม่เขียนสิ่งที่จะผูกมัดจนรัฐบาลบริหารงานไม่ได้ เพื่อไม่ให้เป็นการมัดมือมัดเท้าจนเกินไป
ส่วนปัญหาทุจริตนั้น นายมีชัยกล่าวว่า การป้องกันเบื้องต้นคือสกัดคนมีประวัติทุจริตออกไปก่อน เพราะถ้าเคยทุจริตมาแล้วไม่ว่าต่อหน้าที่หรือการเลือกตั้งแปลว่าเคยทำในสิ่งที่คอขาดบาดตายมาแล้ว ดังนั้นควรไปทำมาหากินอย่างอื่นไม่ควรเป็นตัวแทนประชาชน กลไกดูแลการทุจริตจึงมีตั้งแต่ก่อนเข้าถึงตอนออกคือในแง่คุณสมบัติต้องห้ามและกลไกจากองค์กรอิสระในการตรวจสอบติดตาม เมื่อใครถูกให้ออกจากตำแหน่งเพราะทุจริตหรือผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็ไม่ควรกลับมาอีก สำหรับปัญหาเรื่องความไม่มีวินัยเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้คนมีวินัยได้ จึงกำหนดการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่อนุบาลและก่อนวัยเรียนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายตำรวจเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีปัญหามากที่สุดเพราะขาดความเป็นอิสระ จึงกำหนดให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายในหนึ่งปีหากไม่ทำการแต่งตั้งต้องเป็นไปตามหลักอาวุโส
นายมีชัยยังกล่าวถึงสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองว่า มีการสร้างกลไกใหม่ให้สิทธิประชาชนไม่ลงคะแนนแต่เอามานับด้วย ขณะเดียวกันเพื่อให้การมีส่วนร่วมถึงศูนย์กลางแห่งอำนาจด้วยการสร้างวุฒิสภาจากประชาชนโดยตรงมีหลักประกันว่าไม่ต้องอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองมีอิสระเต็มที่จากการสมัครตามกลุ่มสาขาอาชีพและเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร โดยหวังว่าวุฒิสภาจะได้รับฟังความเห็นคนทั้งประเทศผ่านความหลากหลายทางสาขาอาชีพ นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องการปฏิรูปประเทศให้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งคิดวิธีการได้เองกำหนดระยะเวลาให้เริ่มต้นภายในหนึ่งปีเสร็จภายในห้าปี และมีกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาภายในสองปี
ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวอีกว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดมีความสุขได้ แต่ต้องเฉลี่ยสุขเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างทั่วถึงและกระจายเพราะความต้องการของคนมีความหลากหลายมาก จึงอยากให้ดูภาพรวมว่ากฎเกณฑ์นี้จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าประชาชนอยู่ดีมีสุขได้หรือไม่ ไม่ใช่วิเคราะห์แต่จุดไม่ดี อย่ามองแต่ในจุดร้ายหากคิดว่ายังไม่กระจ่างจะมีในกฎหมายลูกหากเกิดเหตุอะไรก็สามารถแก้ไขในกฎหมายลูกได้โดย กรธ.พร้อมรับฟัง พร้อมกับยืนยันว่า เคารพความเห็นนักวิชาการที่เป็นประโยชน์แต่เรื่องที่ขัดต่อหลักที่วางไว้ก็ไม่ได้เขียนไว้ แต่ยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ด้อยกว่าที่เคยมี หากตกหล่นก็จะมีมาตรา 25 รองรับไว้ทั้งหมด หากมีการเขียนกฎหมายในอนาคตที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเกินความจำเป็นก็จะเป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัยต่อไป
สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น มีการสร้างวาทกรรมว่าสร้างอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากโดยไม่ได้อ่านเนื้อหา เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม แต่ที่ดูน่ากลัวเพราะมีหน้าที่วินิจฉัยว่าใครพ้นจากตำแหน่งเพราะมีลักษณะต้องห้ามทั้งที่เป็นเรื่องเดิมที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอยู่แล้ว เพียงแต่มีคุณสมบัติต้องห้ามเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระก็ถูกตรวจสอบด้วย