“ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน” ชี้ไร้จริยธรรมทำประเทศเจ๊ง บอกเสนอกรรมการร่าง รธน.แล้ว แต่ไม่ให้ความสำคัญ แนะควรมีหัวเรือใหญ่นำขบวน ด้านโฆษก กรธ.ยัน รธน.ใหม่เน้นการศึกษา ปฏิรูปตำรวจ วางพื้นฐานจริยธรรมให้ประเทศ
วันนี้ (30 มี.ค.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนา “สัปดาห์ส่งเสริมจริยธรรม” โดยนายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน บรรยายพิเศษตอนหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เห็นความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้น การบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายของประเทศเพื่อกำกับให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีจิตสำนึก ปัญหาของประเทศไทยแก้ได้ง่ายเพียงนิดเดียว คือ แก้ไขตรงจริยธรรม คุณธรรม โดยเฉพาะนักการเมืองถ้ามีจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรม ประเทศจะเจริญแน่นอน แต่วันนี้ประเทศไทยใกล้เป็นรัฐที่ล้มเหลวขึ้นทุกที ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดคุณธรรม จริยธรรมจากกรณีรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด จะต้องมีการถามหาจริยธรรมตั้งแต่พ่อแม่ และคนทำคดี ซึ่งถ้าสังคมไทยคุณธรรมอยู่ต่ำกว่ากฎหมายแก้ไขปัญหาได้ยาก ขณะเดียวกันภายใน 2-3 วันนี้ตนจะยื่นฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายกับองค์กรหนึ่ง มูลค่า 52,000 ล้านบาท ที่ใช้งบประมาณไม่ถูกต้องและเป็นบริษัทที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม
นายศรีราชากล่าวอีกว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้เน้นคุณธรรมจริยธรรมเท่าที่ควร ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ร้องขอไป แต่เห็นว่าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ระบุแต่เพียงว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องช่วยกันทำ โดยไม่กำหนดให้มีหัวเรือใหญ่เรื่องนี้ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ จะเกี่ยงกันทำหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่ากลไกอื่นมีความสำคัญน้อยกว่า กลไกด้านคุณธรรมจริยธรรม เพราะเป็นสำนึก หากไม่มีประเทศไหนก็จะเจ๊ง
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “งานจริยธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” ว่า ผู้ที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ต้องมีจริยธรรมเป็นสิ่งที่พึงต้องทำ ไม่ใช่สำนึกในเชิงสามัญสำนึกเท่านั้น แต่หมายถึงการยกระดับว่าท่านจะต้องทำอะไรที่ดีที่ชอบในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นที่มาในการบัญญัติจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ เช่น การที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีหน้าที่ในบ้านเมือง ต้องยึดถือกฎหมาย รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นจริยธรรมที่ค่อยพัฒนาขึ้นเมื่อประเทศเราเป็นประชาธิปไตย การให้ความสำคัญเรื่องสิทธิหน้าที่ของประชาชน ท้ายที่สุดข้าราชการ นักการเมือง หรือผู้รับผิดชอบสังคม จะมีคำว่าขี้เกียจไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบขั้นต้น
นายอุดมกล่าวว่า สังคมระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ มันขัดแย้งกับจริยธรรม แต่เราต้องปลูกสร้าง เปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นแบบตรงไปตรงมา เพราะไม่มีใครยอมรับระบบอุปถัมภ์ได้ สุดท้ายเรื่องจริยธรรมที่บ้านเราอยากให้มีคือการบ่มเพาะ การคิดเป็น ตรงกับร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ทุกคนรู้ว่าเมื่อเข้ามาทำหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย การแก้ปัญหาเหล่านี้รัฐธรรมนูญเราเห็นความสำคัญ 2 เรื่อง คือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ถ้าการศึกษาไม่ดี สิ่งที่อยู่ในหัวทุกคนก็เป็นพิษ เพราะถูกฝังหัวมาแล้ว ศึกษาต้องทำให้คนมีวินัย ตนอยากเห็นชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร การไม่เป็นทหารคือไม่รู้คุณแผ่นดิน ทำให้คนขาดวินัย บางคนเห็นภาพทหารว่าเป็นเผด็จการ พูดในแง่สังคมส่วนรวม ต้องมีกลไกเพื่อรักษาวินัยของสังคม การไม่อยากเป็นทหารสะท้อนความไม่รับผิดชอบในเบื้องต้น ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องมีงบประมาณ เหมือนสร้างโรงเรียนให้ประชาชนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และตนสนับสนุนนายกฯ สร้างคอร์สปรับทัศนคติ
นอกจากปฏิรูปการศึกษาแล้วคือการบังคับใช้กฎหมาย ในร่างรัฐธรรมนูญพยายามปฏิรูปการใช้อำนาจของตำรวจ เป็นสิ่งที่สังคมปรารถนา จะทำให้คนรู้สึกว่าการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นจริงในทางปฏิบัติ คือสภาพที่เราต้องสอนให้คนเห็นจากการปฏิบัติจริงของเจ้าหน้าที่ วินัยของสังคมเกิดจากการปลูกฝัง ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำตัวให้เห็นเป็นแบบอย่าง บ้านเมืองจะพอมีความหวัง ตำรวจจะทำหน้าที่ตามกติกา ตรงนี้สำคัญ ถ้าบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ได้ หวังจะให้สงบ ปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะจะบอกว่าถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ทำให้สังคมหาเกณฑ์อ้างอิงได้ยาก ถ้าคนที่มีหน้าที่ดูแลกติกา ยังไม่ให้ความสำคัญกับจุดนี้สังคมอยู่ยาก สิ่งที่พูดมารัฐธรรมนูญได้รับรองไว้นอกเหนือจากการปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่พยายามทำให้เบื้องต้นเช่นปฏิรูปตำรวจ ไม่มีการวิ่งเต้น ทวงทุนคืน ถ้าระบบแบบนี้เกิดขึ้นได้ก็จะหมดไป
“รัฐธรรมนูญที่ยกร่างมา ความคิด กรธ.อาจจะชมตัวเอง แต่อยากให้ไปอ่าน อาจจะเห็นมุมมองบางเรื่อง อาจเคยเห็นมาบ้างหรือไม่เคยเห็น เราตั้งใจอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า จุดที่น่าสนใจคือการปฏิรูปประเทศ สังคมไทยไม่ว่าจะทะเลาะกันหรือไม่ แต่เราอยากผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ไม่อยากเห็Iระบบราชการเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ระบบเส้นสาย มีความเชื่อว่าท้ายที่สุดที่เรียกร้องให้บ้านเมืองเดินไปเหมือนอารยประเทศเมื่อทุกคนให้ความร่วมมือ”