กรรมการ กกต. ระบุงบฯทำประชามติไม่สูง เหตุต้องรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ ไม่มีเรื่องทุจริต เผยร่าง กม.ออกเสียงประชามติ มีการแปรญัตติให้ กรธน.ได้รับการคุ้มครองการเผยแพร่ร่าง รธน.ได้ ด้าน อดีต ส.ส.ปชป. แนะรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านเลือกพวกซื้อเสียง เพราะจะนำไปสู่การทุจริต ขณะที่ พท.อ้างประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคที่ตัวเองชอบ มากกว่าตัวบุคคล
นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการรณรงค์ให้รับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มต่างๆ ว่า ขณะนี้มีกฎหมายคำสั่งของ คสช.อยู่ การแสดงความเห็นต่างๆ จึงต้องระมัดระวัง ในส่วนของกกต.คงต้องรอร่า งพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้มีผลใช้บังคับก่อน โดย กกต.อยากให้มีการถกเถียงกันให้มากที่สุด ซึ่งก็กำลังมีการคิดวิธีการ แต่ทั้งนี้อยากให้การรณรงค์เป็นไปด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ เพราะประชาธิปไตยคุณภาพต้องไม่ใช่การปลุกระดม หรือไปปลุกเร้ากันในแบบต่างๆ
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่เนื้อหาขอรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ได้มีการคุยกับ กรธ.ในเรื่องดังกล่าว โดย กกต.จะมุ่งเน้นว่าทำอย่างไรให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้เต็มที่ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่อธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ของกรธ. ซึ่งทราบว่าในชั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ของกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ขณะนี้มีการแปรญัตติให้การเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. ได้รับการยกเว้นว่าไม่เข้าข่ายเป็นการจูงใจ ซึ่ง กกต.เข้าใจได้เพราะคงไม่มีใครจะอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้ดีเท่ากับผู้ร่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนุญอาจไม่พอใจ เพราะการรณรงค์ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายแบบกรธ. นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กกต.จะพยายามให้มีการเปิดกว้างในการแสดงความเห็นมากที่สุด และคิดว่าเป็นเรื่องมุมมองของประชาชนว่าจะมองอย่างไร
นายธีรวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลติงว่า กกต.ของบฯ ออกเสียงประชามติ 2,991 ล้านบาท สูงเกินไปว่า ไม่อยากให้มองว่าจะมีเรื่องของการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กรณีของการออกเสียงประชามติ ปัญหาคือทำอย่างไรให้ประชาชนมาออกเสียงให้มาก ซึ่งไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่จะมีพรรคการเมือง หัวคะแนนมาช่วยกันรณรงค์ แต่การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องของจิตสำนึกโดยตรง
“ฉะนั้นการรณรงค์เชิญชวนจึงเป็นเรื่องใหญ่ กกต.คิดอยู่เสมอว่า สมมุติรัฐบาลให้เงินมา 100 บาทก็ต้องให้คนมาออกเสียงให้ได้ 100 คน อยากให้มาออกเสียงกันเยอะๆ ซึ่งกกต.มีการระดม พนักงานเจ้าหน้าที่ในการให้ประชาชนมาออกเสียงให้มาก และตั้งเป้าว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 บางคนอาจจบอกว่าเป็นฝันที่เลื่อนลอย แต่ว่ายังฝันอยู่และพยายามจะทำให้เป็นจริงให้ได้”
ทั้งนี้ในช่วงเช้า นายธีรวัฒน์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง” ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 7 ตอนหนึ่งระบุว่า หากเป็นนักการเมือง นักปกครอง แต่ไม่เอาประชาธิปไตยก็ตายเมื่อนั้น หรือ ท่องคาถาประชาธิปไตยแต่ไม่ได้ซึมซับความเป็นประชาธิปไตยไม่ว่าอย่างไรก็ไปไม่ถึงประชาธิปไตย ที่สำคัญประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้การเมืองการปกครองเดินไปได้ ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆทุกเรื่องอยู่ที่ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ แต่หากประชาชนขาดคุณภาพ ในเรื่องของความดี ความงาม การตระหนักรู้ คุณภาพจะออกมาอีกแบบหนึ่ง
แต่ขณะเดียวกันในระบอบประชาธิปไตยสามารถสร้างให้คนเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง หรือการลงประชามติ ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญ แต่คนจะต้องมีวิจารณญาณว่าจะยืนหยัดอยู่บนความดีได้อย่างไร เป้าหมายสุดท้ายเมื่อตัดสินใจออกเสียงแล้วสังคมประเทศชาติจะได้อะไร ไม่ใช่เลือกตามอารมณ์ หรือ ขาดวิจารณญาณของเหตุผล จึงเป็นที่มาของพันธกิจของกกต.ที่เน้นให้การเลือกตั้งมีคุณภาพ เพราะถ้าพลเมืองพื้นฐานไม่มีคุณภาพแล้ว การเลือกตั้งจะออกมาเหมือนเดิม
ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีตส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักศึกษา พตส. แสดงความเห็นว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกนักการเมืองเข้ามา ถ้าเลือกคนไม่ดีเข้ามาจะมาบอกว่านักการเมืองไม่ดี เพราะเป็นคนเลือกเข้ามาเอง ดังนั่นเห็นว่าในช่วงนี้ที่ยังไม่มีการเลือกตั้งจะต้องอบรมประชาชนว่าอย่าไปรับอะไรจากนักการเมือง โดยเฉพาะการซื้อเสียงขายเสียงเพราะเป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วน นางกุสุมาวตี ศิริโกมุท อดีตส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองวันนี้ก้าวข้ามคำว่าซื้อเสียงไปนานแล้ว เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นและยึดถือกับพรรคการเมืองมากขึ้นกว่าตัวบุคคล หากประชาชนรักพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองนั้นไม่ว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้งแม้กระทั่งคนขับรถ บุคคลคนนั้นก็จะได้รับการเลือกตั้งในที่สุด