xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” เชียร์ร่าง รธน.ใช้ยาแรงปราบโกง ติงหลายประเด็นควรแก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองหัวหน้า ปชป.หนุนร่าง รธน.ใช้ยาแรกตัดสิทธิพวกทุจริตเลือกตั้งตลอดชีวิต ขณะเดียวกันยังมีหลายประเด็นที่ควรแก้ไข ทั้งการเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว เปิดทางให้พรรคเสนอชื่อคนนอกฯ นั่งนายกฯ แต่จำกัดทางเลือกประชาชน หวั่นเป็นจุดน็อกในอนาคต ระบุการวางเงื่อนไขให้แก้ รธน.ยาก ยิ่งเสริมให้ฉีกง่ายขึ้น เตรียมรวบรวมความเห็นลูกพรรคเสนอ กรธ. หวังเปิดใจรับฟังทั้งผู้ปฏิบัติและทฤษฎี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานด้านพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เมื่อได้ดูครบทั้งร่างแล้วต้องยอมรับว่ามีข้อดีอยู่มาก โดยเฉพาะประเด็นของการใช้ยาแรงกับการซื้อสิทธิขายเสียงและการทุจริตคอร์รัปชัน ถึงขั้นกำหนดโทษห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิตซึ่งตนขอสนับสนุนอย่างยิ่งเพราะการซื้อเสียงเป็นต้นตอของการทุจริตถอนทุนคืน และเป็นมะเร็งร้ายของประเทศและระบบการเมืองต่อไปหากไม่มีการช่วยกันแก้ไขจัดการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ยังเป็นข้อทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ อยู่ อาทิ ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ระบบบัตรใบเดียวจะทำให้คนที่ต้องการเลือกพรรคกับคนแยกออกจากกันไม่สามารถทำได้ เพราะไปเอาคะแนนคนกับพรรคมารวมกัน ทำให้มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าไม่สามารถสะท้อนความต้องการของคนกับพรรคแยกจากกันได้ อีกทั้งการให้ลงคะแนนคนกับพรรครวมกันก็อาจทำให้การนำไปสู่การซื้อเสียงมากขึ้นและง่ายขึ้นเพราะซื้อคะแนนเดียวก็จะได้ทั้งคนและพรรค

นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้มาตามช่องทางให้พรรคการเมืองเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 3 ชื่อ กลายเป็นว่าขณะที่เปิดช่องคนนอกกลับมาจำกัดทางเลือกของประชาชนที่จะเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเดิมคนที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนสามารถเลือกได้ว่าใครเหมาะที่จะเป็นนายกฯ แต่เมื่อมาเสนอให้พรรคเสนอชื่อไม่เกิน 3 คน กลายเป็นว่าประชาชนมีทางเลือกเฉพาะคนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี วันหนึ่งสมมติว่าเกิดอุบัติเหตุใดๆ ขึ้นมา ตรงนี้อาจจะเป็นเงื่อนตายหรือจุดน็อกขึ้นมาก็ได้ที่ทำให้ไม่สามารถไปเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่นอกบัญชีขึ้นมาทำหน้าที่นายกฯ ได้

นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่ตนเห็นว่ามีความสำคัญคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งฉบับที่ผ่านๆ มากำหนดให้ใช้เสียงข้างมากของสองสภารวมกัน แต่ครั้งนี้กลายเป็นว่ากำหนดเงื่อนไขให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งและเสียงข้างมากของสองสภารวมกัน ยังระบุอีกว่าในเสียงข้างมากนั้นจะต้องประกอบด้วยทั้งเสียงของรัฐบาลและฝ่ายค้านและต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า1ใน3 ด้วย ขณะเดียวกันถ้าเป็นประเด็นที่เข้าเงื่อนไขกำหนดในรัฐธรรมนูญที่จะแก้บางประเด็นจะต้องนำไปทำประชามติก่อนด้วย จากประสบการณ์ของฝ่ายปฏิบัติที่ทำมาแค่ใช้เสียงข้างมากก็ไม่ง่ายสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ

“หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หรือมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง การกำหนดเงื่อนไขให้แก้ยากคงไม่เป็นปัญหาเพราะมันดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปแก้ แต่หากเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย ยังขาดความเห็นพ้องต้องกัน ถ้าผ่านไปแล้วกำหนดแก้ไขได้ยากเช่นนี้ สุดท้ายเมื่อมันไม่มีทางออกก็จะกลายเป็นว่าจะต้องนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยก็จะกลับมาสู่วงจรอุบาทว์อีก อีก จึงอยากฝากให้กรธ.นำไปพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ในช่วง 2 เดือนนี้หลังจากที่ กรธ.ได้ส่งความเห็นให้แม่น้ำสายต่างๆ ทำความเห็นกลับมาและทำความเห็นจากประชาชน ก็อยากให้ฟังจากทั้งฝ่ายทฤษฏีและปฏิบัติร่วมกันไปด้วยอย่างจริงจัง และนำมาประกอบการพิจารณาทบทวน เพราะผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับ มีความสมบูรณ์แบบ มีความเห็นที่สอดคล้องต้องกันได้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”

ส่วนการทำประชามติใช้งบประมาณถึง 3 พันล้าน หากไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการนั้น ส่วนจะผ่านหรือไม่ ตนไม่อยู่ในฐานะที่ให้ความเห็นได้ ซึ่งตนจะดูในเนื้อหาเป็นหลักว่านำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต และต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนหรือไม่ เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการรวบรวมความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเราเสนอความเห็นต่อ กรธ.มาแล้ว แต่ก็จะมีการให้ความเห็นเพิ่มเติมเป็นระยะ และจะพิจารณาอีกครั้งว่าควรจะมีการทำความเห็นในรูปแบบไหนอย่างไร ซี่งตนก็กำลังรวบรวมความเห็นจากสมาชิกพรรคอยู่ ด้วยจุดประสงค์ที่เป็นความปรารถนาดี อยากเห็นรัฐธรรมนูญออกมามีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น และเมื่อมาบังคับใช้จะได้อยู่ได้ยั่งยืน ประเทศจะได้ไม่ย้อนรอยกลับมาที่เดิมหรือนับหนึ่งกันอีก

ส่วนที่นักการเมืองออกมาแสดงความเห็น ถือเป็นเรื่องปกติเหมือนกับทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ เพียงแต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่าเราเป็นผู้มีประสบการณ์ในทางปฏิบัติ หาก กรธ.จะรับฟังความเห็นก็ต้องฟังทั้งผู้ปฏิบัติและภาคทฤษฎี เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความรอบคอบมากขึ้น ส่วนที่มองกันว่าคนที่ออกมาติเพราะเสียผลประโยชน์ ตนมองว่าควรดูที่เนื้อหาของข้อเสนอความคิดเห็นจะดีกว่า หากเนื้อหาเป็นประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นใครอย่างไรก็ควรจะได้รับการรับฟัง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่การเลือกตั้งอาจจะเลื่อนออกไปปลายปี 2560 นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้มีโรดแมปที่ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีอะไร และคิดว่านายกฯ คงพยายามกำกับควบคุมทุกอย่างให้เดินไปตามโรดแมปจนถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นมีสัญญาณอะไรมาทำให้มองได้ว่าจะเดินไปนอกโรดแมปที่กำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น