xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญทุนขุนนาง! “รสนา” หนักใจลดอำนาจประชาชน - “จาตุรนต์” หยันปฏิรูปไร้อนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เวทีเสวนา ม.เกษตรฯ “รสนา” ชี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง รัฐอำนาจใหญ่ขึ้น ลดอำนาจประชาชน ข้าราชการครอบงำโดยกลุ่มทุน อย่าคิดจัดการนักการเมืองอย่างเดียว ให้ดูกลุ่มทุนผูกขาดด้วย เตือนใช้มาตรา 44 เสพติดอำนาจ “จาตุรนต์” หยันปฏิรูปไร้อนาคต คนที่อยากทำอธิบายไม่ได้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม สุดท้ายรัฐประหารอยู่ดี “จุรินทร์” แนะรัฐบาลอย่าเสียของ อย่าสวนทางเสียเอง และปฏิรูปสิ่งที่ทำได้ยาก เช่น ตำรวจ

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีงานเสวนาภาษาสิงห์ ในห้วข้อเรื่อง “ทิศทางรัฐธรรมนูญไทยในยุคการปฏิรูป” โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ทิศทางการปฏิรูปที่คนไทยอยากเห็นคือ “ให้คนไทยได้กินอิ่มและนอนอุ่น” นอกเหนือจากนั้นคือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ประชาธิปไตยทางการเมืองอยู่ได้ต้องมีฐานที่แข็งแรงคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในการแย่งชิงทรัพยากร จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ดังนั้น เราจะแก้ปัญหาทางการเมืองได้ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ร่างรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องการจะปราบการทุจริตคอร์รัปชัน แต่การทุจริตเกิดขึ้นโดยโครงสร้าง 3 ฝ่าย คือ กลุ่มการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐ ข้าราชการ และกลุ่มทุน โดยนักการเมืองกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนได้ ถ้าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปราบคอร์รัปชันต้องไล่มาถึงกลุ่มทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทุจริต เพราะทุนผูกขาดใช้อำนาจเงินมหาศาลเข้าหาอำนาจรัฐให้เอื้อประโยชน์ให้

“ดิฉันขอตั้งฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นฉบับทุนขุนนาง ทำให้รัฐมีอำนาจใหญ่ขึ้น ลดอำนาจประชาชน และทำให้อำนาจข้าราชการเทคโนแครตมากขึ้นและถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน ซึ่งการจะสร้างดุลยภาพต้องให้อำนาจประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้น ที่ผ่านมา กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านจากรัฐสภาไทยน้อยมาก ธุรกิจมีอิทธิพลสูงมาก ทำไมไม่ส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มตรวจสอบธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลาย เสรีภาพต้องไม่ใช่เสรีภาพของกลุ่มทุน ซึ่งไม่เป็นการปฏิรูป เราต้องมีเช็กลิสต์ตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นหรือเลวลง อย่าคิดว่าจัดการนักการเมืองอย่างเดียว ยังมีกลุ่มทุนผูกขาดที่ยังไม่สามารถจัดการได้ จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง อีกทั้งการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 จะส่งผลให้เสพติดอำนาจพิเศษและทำให้คนไทยเคยชิน ควรพัฒนากลไกปกติให้มีประสิทธิภาพ” น.ส.รสนา กล่าว

ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีหลายเรื่องที่ต้องปฏิรูป แต่ไม่มีเรื่องไหนสักเรื่องที่เห็นได้ชัดว่ามีการปฏิรูปอย่างมีทิศทางมีอนาคต ซึ่งควรจะทำแต่ทำไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว การปฏิรูปไม่เกิดขึ้นเพราะว่าสังคมมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ต้องการการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และการทดสอบแต่เรากลับทำกระบวนการทั้งหมดนี้โดยคนส่วนน้อยมากที่ไม่มีความชอบธรรมเลย ไม่มีทางพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นการปฏิรูป เพราะไม่ได้ฟังความเห็นใคร ที่สำคัญคือคนที่มีความคิดว่าต้องปฏิรูปแล้วไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าจะปฏิรูปอะไรกำลังบอกว่าจะต้องกำหนดแผนทั้งหมดของการปฏิรูปไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากปรับไม่ได้เป็นเรื่องอันตรายมาก จะเอาแนวทางปฏิรูปที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมไปใส่ร่างรัฐธรรมนูญแล้วโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังแก้ไขได้ยากมาก ตนเห็นว่าแก้ไม่ได้ พอบอกอย่างนี้ก็หาว่าบิดเบือน

“เหมือนกับเราบอกว่าถ้าแก้ก็แก้ได้เหมือนกัน แต่คนที่จะแก้ต้องบินไปแก้ที่ดาวอังคาร อันตรายมาก มันจึงเกิดจากการที่คนส่วนน้อยมีความคิดว่าต้องปฏิรูปประเทศตามแนวข้าพเจ้าเท่านั้นไปอีก 20 ปี และจะแก้อะไรไม่ได้ ตอนนี้ไม่ต้องไปพยายามปฏิรูปอะไร ไว้ให้ประชาชนปฏิรูป ขอให้ให้กำหนดกติกาการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งรัฐบาลและการตรวจสอบรัฐบาลให้ดี ให้ระบบที่ดีไปปฏิรูปในอนาคตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้มีความคิดเห็นต่างกันมาก ไม่ใช่แค่ให้มีการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะดีเอง ถ้าร่างยังเป็นแบบนี้จะทำประเทศไทยจะไปสู่การรัฐประหารอีกรอบ อีกทั้งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมหาศาล ไม่เชื่อมโยงประชาชน แล้วเอามาตัดสินวิกฤต กลไกแบบนี้คนจะสร้างสภาวะวิกฤต ให้องค์กรเหล่านี้ล้มรัฐบาลได้ง่ายมาก ส่วนประเด็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา เป็นการวัดใจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าจะทำตามหรือไม่ วัดใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะยืนยันแค่ไหน และสุดท้ายจะวัดใจประชาชนว่าจะผ่านประชามติหรือไม่

ในขณะที่ กรธ. บางคนบอกว่าการรณรงค์โหวตโนเป็นเผด็จการ และมีการออกกฎหมายพร้อมลงโทษคนบิดเบือนปลุกระดม ซึ่งถ้าจะเอาเรื่องก็เอาได้หมดเพราะเห็นตรงกันข้าม ความเห็นไม่มีเรื่องบิดเบือน ต้องให้คนสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่ แต่ที่ปรากฏไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นอย่าคิดว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้วจะดี ถ้าไม่แก้สาระสำคัญแล้วผ่านได้ บ้านเมืองจะเสียหายยับเยิน

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เชื่อว่า สุดท้ายรัฐบาลจะต้องอยู่ไปถึง 4 ปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ควรจะต้องทำคือ 1. รัฐบาลจะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศควบคู่ไปกับการบริหารราชการแผ่นดินปกติไม่ให้เสียของ 2. อะไรที่สวนทางกับการปฏิรูปจำเป็นต้องจัดการ หรือไม่ทำสวนทางเสียเอง และ 3. รัฐบาลควรจะเร่งทำหรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะทำได้ยาก เช่น การปฏิรูปตำรวจ

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปคน ถ้ามีการสร้างคนที่มีคุณภาพได้แล้ว เศรษฐกิจและสังคมจะเดินหน้าตามมาประสบความสำเร็จไม่ยาก คนจะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะเลือกคนเช่นใดมาใช้อำนาจรัฐแทน และย่อมไม่มีทัศนคติว่าโกงไม่เป็นไรแต่ขอให้แบ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น