xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์เชื่อภาวะสังคม ปี 59 ภัยแล้งกระทบทั้งระบบ หนี้ครัวเรือนพุ่ง-จ้างงานเกษตรหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์เชื่อภาวะสังคมปี 59 ภัยแล้งกระทบทั้งระบบ ทำระดับหนี้ครัวเรือนปี 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ร้อยละ 80 ของจีดีพี เท่ากับ 10,839,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ร้อยละ 79 ของจีดีพี แถมการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 6 ล้านคนเศษ แนะรัฐรับมือ หวั่นหระทบแรงงาน “ประชาคมอาเซียน” แถมกังวลส่งออกไทย

วันนี้ (29 ก.พ.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า ภาพรวมรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมทั้งปี 2558 พบว่า ภาพรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังต้องเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งจะกระทบต่อการจ้างงานภาคเกษตร ที่กระทบต่อการจ้างงานปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 0.2 การจ้างงาน 38,370,985 คน แต่การจ้างงานภาคเกษตรปรับลดลงร้อยละ 3.6 ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.6 ของเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะสาขาการผลิตอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และบริการท่องเที่ยว พบว่าผู้ว่างงานปี 2558 มีจำนวน 340,561 คน อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.88 ค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ค่าจ้างแรงงานแท้จริงที่ไม่รวมผลตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยผลิตภาพแรงงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ขณะที่ผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.6 “สำหรับภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบทำให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลงจาก 12.73 ล้านคนในปี 2557 เหลือ 12.27 ล้านคน”

ขณะที่ระดับหนี้ครัวเรือนปี 2558 พบว่าหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง แต่การผิดนัดชำระหนี้ยังเพิ่มขึ้น ไตรมาสที่สามปี 2558 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 10,839,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.8 ต่อ GDP ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2558 หนี้สินครัวเรือนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81 ต่อ GDP หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ปี 2558 มีมูลค่า 95,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.9 และมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเท่ากับร้อยละ 2.6 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเท่ากับร้อยละ 5.2 ยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ต่อยอดคงค้าง

ส่วนการพัฒนาคุณภาพการศึกษายังต้องเร่งดำเนินการต่อไป การประเมินผลการสอบ ONET ในปี 2553-2557 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักไม่ถึงร้อยละ 50 ค่าเฉลี่ยวิชาหลัก ม.6 ต่ำสุด อยู่ระหว่างร้อยละ 29.52-37.31 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของแรงงานอายุ 15-59 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 9 ปี แต่ยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียน ประชากรไทยอายุ 25 ปีขึ้นไปมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 7.3 ปี น้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่ผู้เรียนสายอาชีพในระบบการศึกษาระดับ ปวส.-อนุปริญญาก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ

ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ในไตรมาสสี่ของปี 2558 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 43,035 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.1 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 13,073 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.4 แต่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ตลอดปี 2558 มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 147,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.8 มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 18.6 ล้านคนหรือคิดเป็นอัตราการดื่มร้อยละ 34 ของประชากรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.3 ในปี 2557 โดยกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.5 กลุ่มสตรีมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเพศหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.1 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2558 ขณะที่มูลค่าการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 58,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากปี 2557 โดยมีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน มีสัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 19.9 ของประชากร จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 แต่เฉพาะกลุ่มอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.2

นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสสี่ของปี 2558คดีอาญาโดยรวมลดลง ขณะที่คดีชีวิตร่างกาย เพศ และประทุษร้ายต่อทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เพิ่มขึ้น การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและมีผู้เสียชีวิตในไตรมาสสี่และภาพรวมของปี 2558 เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 20.9 และ 15.5 ทั้งปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และ 1.1 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 พบการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2558

สถานการณ์ความรุนแรงของเด็กและสตรีเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ในปี 2558 มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรง 23,977 คน เป็นเด็ก 10,712 คน ผู้หญิง 13,265 คน หรือโดยเฉลี่ยจะมีเด็กและผู้หญิงเป็นเหยื่อความรุนแรงวันละ 66 คน ยังพบว่า ในปี 2558 ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ร้องเรียนสินค้าและบริการทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น 7,118 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.2 จากปี 2557 โดยเฉพาะด้านการขายตรงและตลาดแบบตรงที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

นายปรเมธีกล่าวว่า ในปี 2559 ยังคงต้องติดตามภาวะภัยแล้งที่จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้เกษตรกร จากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการลดลงของปริมาณน้ำจะไม่สามารถใช้เพื่อการเกษตรได้เต็มที่ จะส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรเร่งตัวสูงขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ส่วนการขยายหลักประกันทางสังคมโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ แม้รัฐจะได้ดำเนินการขยายประกันสังคมมาตรา 40 และผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ยังจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ เพิ่มช่องทางการเข้าถึง กอช. ให้ความรู้ในการจัดการเงินของตนเอง และสร้างวินัยการออม เร่งดำเนินการ ในเรื่องของความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ รวมทั้งการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุและผู้พิการ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และสินค้านวัตกรรมเพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของคนทุกกลุ่ม

สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเคลื่อนย้ายแรงงานภายหลังการเปิดเสรีการค้าและบริการอาเซียน ปัจจุบันได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัติวิชาชีพต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการวิชาชีพในการเข้ามาทำงานและพำนักอาศัย ซึ่งได้มีการลงนามใน 8 สาขาได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ และท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องติดตามในประเด็นการสร้างมาตรฐานแรงงานอาเซียนร่วมกันในด้านต่างๆ และควรให้ความสำคัญและติดตามในประเด็นการดำเนินการตามข้อตกลงการเปิดเสรีการลงทุนและบริการโดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่สะดวกมากขึ้นและมีความหลากหลายในสาขาอาชีพของแรงงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น