เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ให้การต้อนรับ ฯพณฯ อีท โซเฟีย (H.E.Mrs.Eat Sophea) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่-หมู ที่จังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา โดยย้ำถึงนโยบายดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายตามมาตรฐานสากล ซึ่งให้ความเป็นธรรมและมีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเท่าเทียม
โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชาจำนวน 2,200 คน ที่เข้ามาทำงานอยู่ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่-หมู จังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา ทางซีพีเอฟดูแลและให้สิทธิตามกฎหมายแรงงานไทยเทียบเท่าคนไทย เช่น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าของวันทำงาน และวันหยุด 2 เท่า ลาป่วย 30 วัน ลากิจ 7 วัน ลาพักผ่อนได้ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี รวมถึงหอพักและรถรับ-ส่งเข้าโรงงานฟรี
ทั้งนี้ ซีพีเอฟดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายตั้งแต่ การทำใบอนุญาต ตรวจสุขภาพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆก่อนเข้าทำงานโดยไม่มีการหักจากเงินเดือนย้อนหลัง ส่วนของแรงงานทางบริษัทฯ ก็มีการติดต่อไปยัง CPF กัมพูชา และมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา เพื่อคัดเลือกบริษัทตัวแทนแรงงานที่ได้ใบรองรับจากกัมพูชา โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานจากกระทรวงแรงงานไทย
ฯพณฯ อีท โซเฟีย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ขอบคุณซีพีเอฟที่เชิญมาดูการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงาน และพอใจที่แรงงานได้มีที่พักสะอาด มีอนามัย และจากที่ได้สอบถามแรงงาน พวกเขาพอใจและมีความสุขดี นอกจากนี้ทางบริษัทก็ให้แรงงานถือพาสปอร์ตเอง เดินทางไปไหนก็สะดวกสบาย และรู้สึกพอใจมากกับการจัดระเบียบแรงงานให้ถูกกฎหมาย เพราะแรงงานจะได้รับรายได้และสวัสดิการต่างๆ มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากบคนไทย”
วีรชัย รัตนบานชื่น รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) สายธุรกิจอาหารและแปรรูปครบวงจร กล่าวว่า ด้านแรงงานถือว่ามีความจำเป็นมากต่อธุรกิจโรงงานแปรรูปอาหาร ปัจจุบันเราให้แรงงานทำงานโอทีประมาณ 12ชั่วโมง/สัปดาห์ซึ่งเป็นตามกรอบกฎหมายสากลของต่างประเทศ โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15% และทำรายได้จากต่างประเทศเป็นหลักถึง 65% จากยอดขายทั้งหมด ส่วนแนวโน้มในปีหน้าคาดว่าการจ้างแรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ จะลดความต้องการแรงงาน อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมมีการใช้ระบบอัตโนมัติทดแทน แต่โรงงานของเราใช้เครื่องมาแทนแรงงานคนไม่ได้ จึงต้องมาก่อตั้งโรงงานอยู่ที่นี่ เพราะ 1.อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ 2.แรงงานหาง่าย 3.ป้องกันปัญหาเนื่องจากการใช้น้ำ โดยเฉพาะด้านแรงงาน จำเป็นจะต้องพึ่งพาแรงงานของประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้สิทธิ์สวัสดิการทุกอย่างเท่าเทียมคนไทย และคนซีพีเอฟใช้วัฒนธรรมองค์กร CPF WAY เพื่อให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างธุรกิจบรรลุตามเป้าหมาย
“ซีพีเอฟ เข้าสู่การประเมินความยั่งยืน “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์” (Dow Jones Sustainabllity Indice-DJSI) ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล กระบวนการทุกอย่างจึงต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟมี Carbon Footprint Label หรือ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นทร์ ซึ่งบอกว่าได้จากวัตถุดิบประเภทไหน อีกทั้งยังได้มาตรฐานการส่งออกระดับโลก เราจึงเป็นครัวของโลก” วีรชัย กล่าวทิ้งท้าย