รักษาการเลขาฯ กกต.เผยนำเงินสะสมไปใช้ภารกิจในองค์กรจนร่อยหรอ เหตุได้รับการจัดสรรงบฯไม่พอ ชี้ปีหน้าถูกตัดอีกยิ่งกระทบ ยันระเบียบการจ่ายเงินชอบด้วย กม. แจง กม.กำหนดออกระเบียบเองได้ รับวิกฤต เล็งเสนอแผนของบชง ครม. 4 มี.ค. ดักจะถูกตัดเหลือ 2 พันล้าน จาก 5 พันล้านอีกหรือไม่ ยันปรับโครงสร้างตำแหน่งไม่กระทบงบฯ มาก ชี้มีผลกระทบจิตใจพนง.แต่ประชามติยังเหมือนเดิม
วันนี้ (29 ก.พ.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวกรณีสำนักงาน กกต.มีปัญหาเรื่องงบประมาณว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้นำเงินสะสมที่เหลือจากการเลือกตั้งไปใช้ในภารกิจต่างๆ ทั้งการปรับเงินเดือนพนักงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน และการจัดทำโครงการต่างๆ โดย กกต.ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบเหล่านี้สำนักงบประมาณเลย ทำให้งบสะสมของ กกต.เกิดการร่อยหรอ ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ถ้า กกต.ไม่ได้รับการจัดสรรงบในจำนวนที่เพียงพอก็จะเกิดผลกระทบกับการทำงานของสำนักงาน กกต. รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ของพนักงานด้วย เพราะในส่วนค่าตอบแทนของพนักงาน เช่นเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงบประมาณก็ไม่เคยจัดสรรให้กับ กกต.
เมื่อถามว่า สำนักงบประมาณไม่จัดสรรให้เพราะมองว่า ระเบียบการเบิกจ่ายที่ กกต.ออกมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายบุณยเกียรติกล่าวยืนยันว่า ระเบียบการจ่ายเงินดังกล่าว กกต.ดำเนินการอย่างถูกต้อง เพราะกฎหมายก็กำหนดให้อำนาจ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระสามารถออกระเบียบเองได้อยู่แล้ว อีกทั้งองค์กรอื่นก็มีการออกระเบียบให้เงินค่าตอบแทนแก่พนักงานเช่นเดียวกัน ในส่วนของสำนักงาน กกต.นั้นผู้บริหารบอกว่าพนักงานทุกคนหากเกษียณอายุราชการไปแล้วกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ได้รับสวัสดิการอะไรเลย นอกจากเงินบำเหน็จเพียงก้อนเดียว แม้แต่ค่ารักษาพยาบาลก็เบิกไมได้ ไม่ว่าจะเป็นของตนเอง หรือบุคลลในครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องให้พนักงาน กกต.มีความมั่นคงในส่วนนี้ จึงได้มีการสมทบให้กับพนักงานในรูปของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งหน่วยงานอื่นเขาก็มี แต่อาจจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น และเขากำหนดไว้ในตัวระเบียบที่เขาสามารถขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณได้โดยตรง แต่ในส่วนของ กกต. สำนักงบจะจัดสรรงบให้มาเป็นแบบเป็นก้อน โดยบอกว่าส่วนนี้เป็นค่าเงินเดือน ค่าบริหารองค์กร ซึ่งโดยหลักแล้วก็จะมีหนึ่งถึงสองส่วนเท่านั้น แต่ในส่วนงบลงทุน หรืองบก่อสร้างสำนักงาน กกต.จังหวัดต่างๆ ประมาณ 1,000 ล้านซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว กกต.ก็ไม่เคยได้รับการจัดสรรเลย
“งบสำรองที่เหลืออยู่ ถ้าถามว่ามันวิกฤตหรือไม่ มันก็วิกฤต เพราะเรามีเงินสำรองจ่ายในปีงบประมาณ 2559 เหลืออยู่ประมาณ 72 ล้านฉะนั้นถ้าหากว่าจำเป็นต้องใช้เงินสำรองนี้ไปในส่วนใดส่วนหนึ่งอีกที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็เท่ากับว่าเงินสำรองเราก็จะน้อยลงไปอีกและถ้าไม่ได้รับการจัดสรร มาในปีงบประมาณ 2560 ให้เพียงพอกับการเป็นค่าเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพนักงานอีก ก็จะทำให้มีปัญหาไม่เฉพาะกับแค่นี้ด้วยซ้ำไป แต่ในส่วนแผนงานโครงการอื่นๆ ที่เราเตรียมไว้ก็จะมีผลกระทบไปด้วย ซึ่งตอนนี้ทางสำนักงานก็กำลังเร่งทำแผนคำของบประมาณปี 2560 อยู่ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณา เพราะรัฐบาลกำหนดให้กกต.ต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 4 มี.ค. แต่ตัวเลขที่ขอยังไม่ชัดเจน ซึ่งน่าจะไม่ต่างจากที่ขอทุกปี คือประมาณ 5,000 ล้าน และก็ไม่รู้ว่าสำนักงบจะจัดสรรให้เหมือนทุกปีหรือเปล่าคือประมาณไม่เกิน 2 พันล้าน เพราะขณะนี้กกต.เกิดงบประมาณไม่เพียงพอขึ้นแล้ว”
ส่วนที่ระบุว่าปัญหางบประมาณ กกต.มาจากการปรับโครงสร้างตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงผิดพลาด นายบุณยเกียรติกล่าวว่า การเพิ่มผู้บริหารขึ้นมาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างในส่วนของต่างจังหวัด โดยให้มีรองผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมาช่วยงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็อาจจะมีส่วนที่กระทบกับงบประมาณแต่ไม่มากนัก เพราะสำนักงานใช้วิธีการค่อยๆ ปรับขึ้นมา ไม่ใช่การเพิ่มขึ้นทีเดียวทั้งหมดครบทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งการขยายตำแหน่งก็เป็นเรื่องความก้าวหน้าของพนักงานด้วย
นายุบณยเกียรติยังกล่าวอีกว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะกระทบต่อขวัญกำลังใจของพนักงาน แต่คงถึงขนาดมีผลต่อการปฏิบัติงานของพนักงานในการออกเสียงประชามติเพราะในปีงบประมาณ 59 ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีการตัดลดอะไรเนื่องจากการตั้งงบประมาณไว้พอแล้ว แต่ในปีงบประมาณ 2560 คือตั้งแต่ ต.ค. 59 - 30 ก.ย. 60 ถ้าหาก กกต.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาไม่เพียงพอ สำนักงานก็ต้องมาพิจารณาดูว่าแผนงานโครงการใดที่สำนักงานยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอาจจะเลื่อนหรือชะลอออกไปก่อนก็ได้ แต่ในส่วนของเงินเดือน หรือค่าตอบแทนต่างๆ ของพนักงาน ก็จะพยายามไม่ให้กระทบพนักงาน โดยจะเป็นลำดับสุดท้ายที่จะพิจารณาหากมีความจำเป็นที่ต้องปรับลด