พบสถานะการเงินสำนักงาน กกต. อยู่ในภาวะวิกฤต เงินสะสมจาก 5,000 ล้าน เหลือแค่ 72 ล้าน 10 ปีที่ผ่านมา ใช้ไปแล้ว 4,400 ล้าน พนักงาน กกต. ร่อนหนังสือถึงผู้บริหารขอความเป็นธรรม หลังสำนักงานเล็งตัดเงินค่าตอบแทน ยันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กระทบขวัญ กำลังใจ ชี้มาจากโครงสร้างผิดพลาด เอาแต่แต่งตั้งผู้บริหารเพิ่ม ทำภาระงานซ้ำซ้อน แต่ขาดแคลนระดับปฏิบัติการ ถามกลับผู้บริหารคิดจะเสียสละเพื่อลูกน้องบ้างหรือไม่
วันนี้ (28 ก.พ.) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่เอกสารร้องขอความเป็นธรรมของพนักงาน กกต. ต่อ กกต. ในไลน์ของผู้บริหารสำนักงานและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรณีที่ทางสำนักงานมีแนวความคิดที่จะตัดเงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ของพนักงาน ทั้งเงินค่าครองชีพ เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งของผู้บริหาร เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเฉพาะอย่างยิ่ง เงินส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะการเงินการคลังของสำนักงานที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านการบริหาร โดยงบประมาณอาจไม่พอใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานของสำนักงาน ว่า เป็นการบั่นทอน ทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงานทุกคนเป็นอย่างมาก หากมีการตัดหรือปรับลดจะกระทบการดำรงชีวิตของพนักงาน ที่ส่วนใหญ่ได้นำไปก่อหนี้ยืมสิน หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือเพียงพอใช้จ่ายในแต่ละวันเท่านั้น รวมถึงอาจกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และความจงรักภักดีต่อองค์กร นอกจากนี้ ยังขอให้ กกต. พิจารณาย้าย น.ส.สุรณี ผลทวี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงาน กกต. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการงบประมาณ และไม่มีความสามารถในการบริหารงบประมาณ
ทั้งนี้ ตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวยังตั้งคำถามต่อผู้บริหาร ถึงสาเหตุที่ทำให้สำนักงานต้องประสบกับปัญหาด้านการเงิน จนต้องมาพิจารณาปรับลดค่าตอบแทนพนักงานทุกระดับ ว่า มาจากการบริหารงานเกี่ยวกับโครงสร้างของสำนักงานที่ผิดพลาดหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภารกิจส่วนใหญ่ของ กกต. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหยุดชะงัก แต่สำนักงานกลับมีการแต่งตั้งผู้บริหารเพิ่ม มีการยกฐานะทุกจังหวัดเป็นระดับสูง ไม่ว่าจะจังหวัดเล็กใหญ่เท่าใด ก็ให้เป็นผู้บริหารระดับสูงทุกจังหวัด มีการสอบผู้บริหารระดับกลางเพิ่ม ทดแทนผู้บริหาระดับกลางเดิมที่ได้รับแต่งตึ้งเป็นผู้บริหารระดับสูงเพิ่มขึ้น
จังหวัดหนึ่งมีผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือตำแหน่งอย่างอื่นที่เทียบเท่า โดยทั้ง 2 ตำแหน่งภารกิจงานคลุมเครือและซ้ำซ้อนกัน สร้างภาระงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ข้อเท็จจริงระดับจังหวัดขาดแคลนพนักงานระดับปฏิบัติหลายตำแหน่ง ก็กลับไม่มีการเปิดสอบทดแทนในส่วนนี้เลย รวมทั้งก่อนที่จะมีการเสนอลดค่าตอบแทนของพนักงานทั้งองค์กรนั้น มีการนำเสนอเกี่ยวกับการเสียสละค่าตอบแทนของผู้บริหารบางส่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานระดับล่างหรือไม่
“หากมีการตัดเงินส่งเสริมประสิทธิภาพ หรือลดเงินสำรองเลี้ยงชีพในส่วนนี้ออกไป ขอให้ออกระเบียบให้พนักงาน กกต. ที่ไม่ได้รับบำนาญและมีสิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐอื่นอยู่แล้ว มีสิทธิได้รับบำนาญ และสิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลด้วย หรือทำเรื่องถึงนายกฯ ครม. ผู้มีอำนาจอื่นให้ยกเลิกบำนาญ และสิทธิในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลของพนักงานในสำนักงาน กกต. ที่มีสิทธิดังกล่าวอยู่แล้ว และเป็นผู้ที่รับเงินจากรัฐ 2 ทาง คือ บำนาญและเงินเดือนจาก กกต. ก่อนแล้ว เพื่อให้ผู้นั้นมีสิทธิดังเช่นพนักงาน ที่ไม่เคยได้รับสิทธิดังกล่าวจะได้เข้าใจว่าการเสื่อมเสียขวัญกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างไร เพราะถึงแม้สำนักงานจะให้ค่าตอบแทนต่าง ๆ ในจำนวนที่สูงก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับส่วนราชการก็ได้รับสวัสดิการหลาย ๆ อย่างดีกว่าหน่วยงานของเรามาก ยิ่งเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น อัตราค่าตอบแทนในปัจจุบันใกล้เคียงกัน บางหน่วยงานได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ เยอะกว่าด้วยซ้ำ” หนังสือร้องเรียน ระบุ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ปัจจุบันสำนักงาน กกต. มีปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากมีพนักงานทั้งประเทศ 2,500 คน งบประมาณประจำปีที่ขอไปทุกปี ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาทส่วนใหญ่ก็จะได้รับการจัดสรรเพียง 1,700 - 1,800 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะแจ้งให้ กกต. ใช้เงินเหลือจ่ายสะสมของ กกต. ที่เหลือจากการจัดการเลือกตั้งแล้วไม่ได้นำส่งคืนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับแต่ก่อตั้ง กกต. มีเงินเหลือจ่ายสะสมประมาณ 5,000 ล้านบาทเศษ แต่นับแต่ปี 2549
จนถึงปี 2559 กกต. ใช้เงินเหลือจ่ายสะสมที่มีไปกว่า 4,400 ล้านบาท ในกิจการ อาทิ การก่อสร้างสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด การเลือกตั้งทั่วไปบางส่วน การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในทุกครั้ง และที่สำคัญ คือ ค่าตอบแทนต่าง ๆ ของพนักงาน กระทั่งปัจจุบัน กกต. เหลือเงินสะสมดังกล่าวอยู่เพียง 72 ล้านบาท ทางสำนักงานฯ จึงเห็นว่า การเงินของสำนักงานอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นที่จะต้องมีการปรับลดรายจ่ายลง ประกอบกับในส่วนของเงินส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ดีที่จ่ายให้พนักงานทุกระดับและลูกจ้างในอัตรา 2,000 - 17,500 บาทต่อคนต่อเดือน และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แม้ กกต. จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งในการออกระเบียบดังกล่าวในปี 2555 แต่ก็มีข้อท้วงติงจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในทำนองว่า การใช้จ่ายเงินดังกล่าวอาจะไม่ถูกต้อง เนื่องจากระเบียบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานประเมินว่าภาวะวิกฤตงบประมาณของสำนักงานที่จะถึงขั้นทำให้สำนักงานจำเป็นต้องปรับลด หรือตัดเงินส่งเสริมประสิทธิภาพพนักงาน หรือลดการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจจะมีขึ้นในปีงบประมาณ 2560 หากไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอจากสำนักงบประมาณ
โดยในปีงบประมาณ 2559 นี้ กกต. ยังคาดว่า จะสามารถจัดสรรค่าตอบแทนให้กับพนักงานได้ แม้ว่า กกต. จะรับการจัดสรรงบในส่วนนี้เป็นครั้งแรกจากสำนักงบประมาณ แต่ก็วงเงินเพียง 19 ล้านบาท และถูกกำหนดว่าสำหรับพนักงานระดับต้นและลูกจ้างประจำ จากที่ขอไปทั้งหมด 324 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งในส่วนของ กกต. ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวและได้ให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้กระทบพนักงานน้อยที่สุด