xs
xsm
sm
md
lg

“ทีมสมคิด” เดินหน้าตั้ง 2 กองทุนแสนล้าน หวังปฏิรูปเศรษฐกิจยุค คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
“ทีมสมคิด” เดินหน้าจัดตั้ง 2 กองทุน หวังปฏิรูปเศรษฐกิจยุค คสช. เผยเตรียมตั้ง “เนชันแนล สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์” เชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรม ตามนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี หลัง “รองนายกฯ สมคิด” เผย เตรียมชง"กองทุนสตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์" ทุ่มงบประมาณ 4 พันล้านบาท พ่วงกับดึง เงินธนาคารรัฐร่วม 6 พันล้านบาท เตรียมชงเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่จะเปิดตัวในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ “โอมาน-จีน” สนใจแล้ว

วันนี้ (10 ก.พ.) มีรายงานว่า ภายหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษ “สานพลังประชารัฐขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทย” ว่ากระทรวงการคลังเตรียมจัดตั้ง “สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์” โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะใส่เงินเข้ามา 3-4 พันล้านบาท และจะดึงธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย 2 พันล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์ 2 พันล้านบาท ธนาคารออมสิน 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ และเชื่อมั่นว่าภายในครึ่งปีแรกจะจัดตั้งกองทุนนี้ได้

“การจัดตั้งกองทุนนี้เพื่อต้องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยเริ่มจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะเข้า ครม.ได้ ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดีเราไม่กลัวเศรษฐกิจโลกเพราะต่อจากนี้เราจะเป็นตัวของตัวเอง โดยใช้วิกฤตในครั้งนี้เปลี่ยนให้เป็นโอกาส ซึ่งเรื่องนี้ต้องลงมือทำไม่ได้แค่คุยไปวันๆ” นายสมคิดกล่าว

มีรายงานว่า “กองทุนสตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์” นั้น พบว่าเมื่อปีที่ผ่านมานายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่าได้เสนอแนวคิดต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งหน่วยงานกลางดูแลเอสเอ็มอี หรือเนชันแนล สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ดูแลเอสเอ็มอีกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เช่น หาตลาด หาผู้ร่วมทุน แหล่งเงินทุน เป็นต้น คล้ายกับคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ดูแลส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่

“จะมีวงเงินทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ที่ธนาคารออมสินเตรียมไว้ในการลงทุนกองทุนร่วมลงทุน โดยจะเป็นกองทุนที่เน้นการร่วมทุนกับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และเป็นกลุ่มระยะเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสร้างวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่”

นายชาติชายบอกว่า เอสเอ็มอีคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารจะเลือกเข้ามาร่วมลงทุนภายใต้กองทุนดังกล่าว จะคัดจากผลงานของนักเรียก นักศึกษาที่เคยนำผลงานมาประกวดในโครงการต่างๆ ของธนาคารออมสินที่มีเฉลี่ยปีละ1,000โครงการ ซึ่งขณะนี้มีรายชื่ออยู่กว่า 4,000 โครงการ ที่ธนาคารจะเข้าไปคัดเลือกเพื่อหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ธุรกิจแบบใหม่ๆที่สามารถเอามาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยธนาคารจะเข้าไปดูเรื่องแผนธุรกิจ ความเป็นไปได้ของโครงการ และการหาตลาดในการขายสินค้า

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเสนอการขับเคลื่อนงานหลักๆ 4 โครงการ หนึ่งในนั้นรัฐบาลจะมีการออกมาตรการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (เทค สตาร์ทอัพ)

โดยแนวทางการจัดตั้ง “เนชันแนล สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์” จะเชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรมที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงและจดทะเบียนสตาร์ทอัพทั้งหมด ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ เหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากธนาคารของรัฐและเอกชน รวมถึงมีกองทุนร่วมลงทุนให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ด้วยกันเอง หรือสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนความรู้

“สิ่งสำคัญที่รัฐบาลคิด คือ การนำภาคเกษตรเข้าสู่ระบบนี้ เพราะต้องการปฏิรูปการเกษตรของประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น และแก้ปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมสตาร์ทอัพ เกษตรอุตสาหกรรมรายย่อยในท้องถิ่น 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี อย่างครบวงจรตั้งแต่การให้ทุน ผลิต แปรรูป และจัดหาตลาด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้”

มีรายงานว่า นอกจากกองทุนใหม่นี้แล้ว เมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) บอกว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการให้ สคร.เร่งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์) วงเงิน 100,000 ล้านบาท และโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน (พีพีพี) 5 โครงการ เพื่อเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

มีรายงานว่า “กองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” ครม.ได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อติดตามการทำงานของอนุกรรมการ 3 ชุด ที่ดำเนินการไปพร้อมๆ กัน คณะอนุกรรมการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน คณะอนุกรรมการว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินเพื่อให้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และคณะอนุกรรมการเลือกโครงการเพื่อมาใส่ไว้ในกองทุนที่จะตั้งขึ้น โดยอนุกรรมการนี้มีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบ

ล่าสุด นายสมชัยบอกว่าจากการที่กระทรวงการคลังได้เดินทางไปโรดโชว์ที่โอมาน อิหร่าน และจีน พบว่า นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ และผู้บริหารกองทุนความมั่งคั่ง ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในกองทุนนี้ ที่ทางรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนนี้ โดยองค์การส่งเสริมการลงทุนและการส่งออกของประเทศโอมาน และกองทุนไชน่าอินเวสเมนต์ คอเปอเรตของประเทศจีน จะส่งทีมงานมาศึกษาเงื่อนไขของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้างเพื่อนำไปพิจารณาเรื่องการลงทุน ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าเงื่อนไขกองทุนดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ดี

สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ครม.ได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 โดยจุดประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ ดังกล่าวเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งของประเทศ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการ และหากว่าสามารถเปิดให้ลงทุนได้ภายในไตรมาส 1/59 จะดำเนินการทันที

นายอภิศักดิ์เคยกล่าวถึงกองทุนนี้ว่า “ถ้าเราใช้งบประมาณของภาครัฐเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าจะทำได้ไม่กี่โครงการ เราอยากให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น เพราะจะช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับประเทศค่อนข้างมาก จึงมีการออกแบบกองทุนเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีเงินระยะยาวไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจากประกันภัย เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้นยังเปิดโอกาสให้กับประชาชนทั่วไปสามารถลงทุนได้ด้วย”

สำหรับกองทุนดังกล่าวจะมีวงเงิน 100,000 ล้านบาท รัฐบาลมั่นใจว่าจะเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุน โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะลงเงินก่อน 10,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินที่กระทรวงการคลังลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ โดยจะแปลงเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นเงินเริ่มต้นสำหรับกองทุน เพื่อให้กองทุนมีรายได้ เนื่องจากหากเป็นกองทุนใหม่กว่าจะมีรายได้จะต้องใช้เวลา 3-5 ปี ทั้งนี้ การดำเนินการทุนดังกล่าวนั้น จะช่วยลดภาระการกู้เงินของรัฐบาล และประเทศยังสามารถมีช่องว่างในการกู้เงินได้เพิ่มขึ้น เพราะภาระหนี้จะลดลง

โดยกระทรวงการคลังจะลงไปสำรวจอัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำของการลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีการการันตีผลตอบแทนในการลงทุน

ทั้งนี้ การจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2015 ถือเป็นการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย โดยได้ชี้แจงต่อนักลงทุนว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทั้งในเรื่องการเมืองและเรื่องการเงิน เนื่องจากรัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ขณะที่ด้านการเงินมีระดับหนี้ต่อจีดีพีในระดับต่ำ และหนี้กว่า 94% เป็นหนี้ภายในประเทศ รวมถึงหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำระดับเพียง 43% ต่อจีดีพี


กำลังโหลดความคิดเห็น