รองนายกฯ มอบนโยบายสถาบันการเงินภาครัฐ "ออมสิน" และ "ธ.ก.ส." สนับสนุนผู้ประกอบการภาคเกษตร ป้องกันปัญหาภัยแล้ง และยกระดับเป็นเอสเอ็มอีภาคเกษตร ระบุรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือชดเชยดอกเบี้ยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ
วันนี้ (8 ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร(ธ.ก.ส.) โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการปฏิรูปภาคเกษตร จึงต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐ เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยใช้น้ำน้อย เพื่อปลูกพืชให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การเติมทุนให้เพียงพอ และการหาตลาดรองรับ การนำผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกษียณอายุทำงานมาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคเกษตร
หากสามารถก้าวเป็นเอสเอ็มอีภาคเกษตร ผู้ประกอบการใหม่ หรือเป็นเกษตรเชิงอุตสาหกรรม จะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณผ่านการชดเชยอัตราดอกเบี้ย และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือด้านต่างๆ ขณะที่หอการค้าพร้อมเข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาด ด้วยการหาตลาดรับซื้อสินค้าทางการเกษตร ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมให้การส่งเสริมการลงทุนในระดับท้องถิ่น และการสนับสนุนการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เพื่อพลิกโฉมการลงทุนในระดับท้องถิ่น
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่าได้เตรียมวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำนำไปลงทุนปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อหารายได้เสริม จากที่ผ่านมามีชาวสวนกว่าแสนรายมากู้เงินแล้วกว่า 9,000 ล้านบาทจากวงเงินที่ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินรวมที่ธ.ก.ส.ตั้งไว้สำหรับปล่อยยกู้เพื่อปรับปรุงการทำเกษตรและผลักดันให้เกิด1 เอสเอ็มอีเกษตร 1 ตำบล นั้นมีวงเงินอยู่แล้ว 50,000 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เสนอที่ประชุมด้วยการเตรียมวงเงินออกเป็น 2 ส่วน เพื่อนำไปร่วมลงทุนกับธุรกิจที่มีศักยภาพ วงเงิน 2,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นศักยภาพกล้าลงทุนเป็นผู้ประกอบการใหม่ในการกิจการ Start Up เพื่อมุ่งช่วยเหลือทุกกลุ่มห่วงโซ่ ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูป เพื่อยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีภาคเกษตร
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้เตรียมสินเชื่อสำหรับกลุ่มเกษตรกร ในการลงทุนเครื่องจักร และสร้างโกดังสินค้า การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ด้วยอัตราดอกเบี้ย MLR-1 ในช่วง 2 ปีแรก ระยะเวลาสินเชื่อ 1 ปีกรณีเบิกเกินบัญชี และระยะเวลา 5-10 ปี กรณีสร้างโกดังและซื้อเครื่องจักร สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรในการผลิต เช่น ข้าว Organic, Rice berry ปล่อยสินเชื่อระยะสั้นการซื้อปัจจัยการผลิต การปรับสภาพดิน หรือซื้อเครื่องมือเครื่องจักร คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 2 ปีแรก ปีต่อไปคิดดอกเบี้ย MLR-1 โดยเสนอรัฐบาลอุดหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *