xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ลั่น!!! ตลาดทุนต้องเร่งผลักดันการลงทุน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักาาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.และ นายกรัฐมนตรี
บิ๊กตู่ มอบนโยบายตลาดทุน เร่งสร้างองค์ความรู้ ผลักดันการลงทุนต่างๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพ ชี้รัฐพยายามปฏิรูปทุกอย่าง พร้อมดันโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ หรือ TIF ดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไทย
 



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. และนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน “บทบาทควาคมสำคัญของตลาดหุ้นไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ” ว่า สิ่งสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้นั้น คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้งหมด ต้องสร้างความตระหนักต่อการรับรู้ด้านการลงทุนที่จะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้พยายามในการปฏิรูปทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยจากนี้ไป หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการลงทุน จะต้องสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ เช่น การสร้างความรู้ความร่วมมือในด้านการส่งเสริมการลงทุนกับ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน

“สิ่งที่จะต้องทำเริ่มแรก คือ การปฏิรูปตัวเองก่อน เพื่อสร้างความโปร่งใส ให้ต่างประเทศเชื่อมั่นที่จะเข้ามาร่วมลงทุน นอกจากนี้ จะต้องมีความพร้อมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อให้ต่างประเทศได้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่มั่นคงชัดเจน และการสร้างองค์ความรู้ต่อประชาชนให้เข้าใจถึงความสำคัญด้านการลงทุนที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่ต้องกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้สินรวมจำนวนมากในระดับชาติ อีกทั้งเพื่อประกันความเสี่ยงในอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันการลงทุน คือ การจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ หรือ TIF เพื่อระดมทุนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนาระบบส่งเสริมการลงทุนให้มีความทัดเทียมเสมอภาคกัน และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการให้มีความทันสมัย สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งการบูรณาการด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่อรองรับกับความต้องการในตลาดแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสิรมว่า การระดมทุนของนักธุรกิจไทยที่ผ่านมาจะพึ่งพิงธนาคารพาณิชน์เป็นหลัก ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และตราสารหนี้มีบทบาทน้อยมาก จึงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดขึ้น ก็ถือว่ามีการพัฒนามากขึ้นมาก ในการเป็นหนึ่งในแหล่งระดมทุน

อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการออกหลักทรัพย์ใหม่ๆ เข้ามาระดมอย่างมาก จากเดิมจะเห็นได้ว่า มีบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น บมจ.ปตท. ตลอดจนถึงบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการด้านการเงิน, การผลิต, บริการ, คมนาคม ได้รับประโยชน์จากการระดมทุนในตลาดทุน ขณะที่ในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนซื้อชขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 640 บริษัท ซึ่งตลาดทุนเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งรายได้ภาษีของกระทรวงการคลัง โดยรายได้ภาษีนิติบุคคลซึ่งเกิดจากบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มจากเดิม 25% เป็น 37% ในปัจจุบันเป็นรายได้ที่สูงอย่างมาก และคาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

“การพัฒนาของตลาดทุนไทยมีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2548 เทียบกับปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 99% และธุรกิจสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ในอนาคต ทั้งใน ตลท และ mai อีกทั้งรัฐบาลพยายามที่จะส่งเสริม และสนับสนุนในการยกระดับการลงทุนด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดนักลงทุนใหม่ๆ ทั้งลงทุนโดยตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ที่มี เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”


สำหรับการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค ภาครัฐมีการส่งเสริมในเรื่องของธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมถึงการให้ความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใส่ใจต่อชุมชน เพื่อให้บริษัทเหล่านี้อยู่ในดัชนีดาวโจนส์ ที่เป็นที่น่าลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 13 บริษัท
 
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ในเรื่องของการเชื่อมโยงต่อภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของการระดมทุน ใน CLMV หรือ GMS และพยายามที่จะเสริมขีดความสามารถของภาครัฐเอง เพื่อให้สามารถมีภูมิคุ้มกัน ที่จะทำให้สังคมยั่งยืนด้วยตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะอยู่ในแผนปฏิรูปตลาดทุนไทยที่ในอนาคต 5 ปี จะต้องเข้าถึงตลาดทุนไทยได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนการเข้าถึงที่ต่ำ และ SMEs สามารถเข้าถึงได้ แข่งขันได้ และเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ และเศรษฐกิจโลกที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วย ส่งผลดีต่อการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศดีขึ้น โดยการเคลื่อนไหวของดัชนีขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าเป็นการปรับตัวที่ต่ำแล้ว และไม่น่าจะปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ โดยปัจจุบัน ดัชนีเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,250 จุด หากไม่มีปัจจัยอื่นเข้าส่งผลกระทบเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีทิศทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลทำให้เม็ดเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกไหลออกจากตลาดหุ้น

ขณะที่ส่วนการลงทุนของนักลงทุน ปัจจุบัน ได้ปรับพอร์ตการลงทุนไปมาก และถือครองเงินสดไว้มากขึ้น แนะให้นักลงทุนเริ่มพิจารณาลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐ เช่น หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว อาหาร อุปโภคบริโภค โดยคาดว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/58 สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้ตลาดทุนเกิดการพัฒนานั้น หลักๆ คือจะต้องตอบโจทย์การเติบโตของประเทศให้ได้ โดยให้มีการส่งเสริม SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ครอบคลุม ขยายตลาดออกไปได้กว้างมากขึ้นทั้งในอาเซียน และกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และตลาดทุนจะต้องมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีมาตรฐาน และธรรมาภิบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น