โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นที่รู้จักกันเพิ่มมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป สำหรับนำไปใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบขนส่ง เป็นต้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ออกและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว 4 กองทุน คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 190,000 ล้านบาท และกำลังจะออกเสนอขายเร็วๆ นี้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมกันแล้วจะทำให้มูลค่าของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมีขนาดไม่ต่ำกว่า 210,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียวครับ
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานดีอย่างไร และดีจริงต่อนักลงทุนหรือไม่ หรือให้ผลดีแต่เฉพาะกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงการเท่านั้น วันนี้เราลองพิจารณากันดูครับ
ด้านผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานนั้น การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานช่วยลดภาระการกู้ยืมหรือลดหนี้ ทำให้บริษัทสามารถนำทุนไปพัฒนาโครงการใหม่ๆ จัดโครงสร้างการเงิน ลดสัดส่วนหนี้ต่อทุนให้เหมาะสม ทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียมการโอนหลายอย่าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้น้อยลง เช่น การโอนสินทรัพย์เข้ากองทุนก็จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงได้รับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง และค่าจดทะเบียนการเช่าอีกด้วย นอกจากนี้ ในโครงการขนาดใหญ่นั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการมักต้องการที่จะระดมทุนจากหลายๆ ช่องทาง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตนเอง และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ อีกด้วย
จึงเรียกได้ว่าการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้นให้ประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากการกู้เงินผ่านธนาคารเพียงอย่างเดียว ในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ หากมีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบการให้สิทธิจัดหาผลประโยชน์หรือการแบ่งปันส่วนแบ่งรายได้แก่ผู้ถือหน่วยจะไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้สาธารณะ และไม่ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สิน ทั้งยังไม่เข้าข่ายตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.การร่วมทุนอีกด้วย ทำให้เพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุนเพื่อพัฒนาประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ประเทศต้องการระดมทุนมาพัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ด้านนักลงทุนจะได้รับประโยชน์ที่หลากหลาย ได้รับผลตอบแทนทั้งในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย เนื่องจากมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลเป็นระยะเวลา 10 ปีต่อเนื่องกันนับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน สำหรับผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนก็จะได้รับการยกเว้นภาษีหากถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนจ่าย และ 3 เดือนหลังจ่ายเงินปันผล ในส่วนของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้รับส่วนลดภาษีกึ่งหนึ่งหากถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนจ่าย และ 3 เดือนหลังจ่ายเงินปันผลด้วยเช่นกัน
ข้อควรพิจารณาก่อนการลงทุนนั้น นักลงทุนควรพิจารณาถึงลักษณะธุรกิจที่นำมาจัดตั้งกองทุนว่าเป็นธุรกิจใด มีความมั่นคงในกระแสรายได้มากน้อยเพียงใด หากเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะมีความเสี่ยงใดบ้างที่ส่งผลกระทบให้มีความล่าช้าหรือเพิ่มต้นทุนการก่อสร้าง นอกจากนี้ นักลงทุนควรพิจารณาถึงสิทธิและข้อจำกัดของหน่วยลงทุนที่จะลงทุนให้ชัดเจน รวมทั้งสภาพคล่องการซื้อขายและความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลังจากที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว
สำหรับ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีความเชื่อมั่นว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนที่ WIN-WIN คือเจ้าของโครงการได้รับประโยชน์ในการเพิ่มช่องทางการระดมทุนภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ และยังทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้
นอกจากนี้ กองทุนประเภทนี้ยังมีความผันผวนด้านราคาน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน จึงเหมาะกับกลุ่มนักลงทุนที่ไม่ต้องการความผันผวนของราคาและต้องการได้รับเงินปันผลที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับตราสารทุน อย่างนี้แล้วเราจะไม่ลองพิจารณากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกันเหรอครับ
อย่างไรก็ตาม ก็ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ