xs
xsm
sm
md
lg

ยางไม่จบ ข้าวจ่อคิว แก้ความช้า-ขรก.เกียร์ว่างไม่ตก “ประยุทธ์” ก็จบเห่!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าทีมแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และล่าสุดก็เห็นชอบให้รับซื้อยางจากเกษตรโดยตรงในราคานำตลาดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 45 บาท ขณะเดียวกันได้มีการเร่งรัดให้หน่วยงานของทางราชการ นำผลิตภัณฑ์ยางมาแปรรูปให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด

สิ่งที่เห็นก็คือ แม้ว่าจะยังไม่มีการรับซื้อกันอย่างเป็นทางการ เพราะจะเริ่มดีเดย์กันในวันที่ 25 มกราคม เป็นต้นไป แต่ก็ส่งผลในทางจิตวิทยาทำให้ดึงราคาให้สูงขึ้นอย่างน้อยกิโลกรัมละ 1 บาท ทันที ก็ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี อย่างน้อยราคาก็ไม่ตกรูดลงไปเรื่อยๆ จนเลย “4 กิโลร้อย”

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากพิจารณากันแบบตรงไปตรงมาแบบไม่ต้องเกรงใจก็คือ การตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ แทนที่จะมอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแม่งานรับผิดชอบโดยตรง มันก็เหมือนกับการ “ตบหน้า” เข้าอย่างจัง แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นเพราะต้องการประสานงานกันหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนเดินไปรวดเร็ว ก็สามารถอธิบายแบบนั้นได้ แต่หากพิจารณาจากต้นเหตุแล้วก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นความล้มเหลวในการบริหารของ พล.อ.ฉัตรชัยอีกครั้ง ที่กระทรวงเกษตรฯ หลังจากเคยล้มเหลวที่กระทรวงพาณิชย์มาแล้ว

แม้ว่าในความเป็นจริงราคายางที่ตกต่ำ มาจากสาเหตุหลักคือ ปัจจัยภายนอก จากราคาที่ผูกติดกับราคาน้ำมันในตลาดโลก จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน ที่เคยเป็นตลาดรับซื้อยางพาราขนาดใหญที่สุดก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่การนำมาเป็นข้ออ้างกับชาวบ้านให้ยอมรับกับปัญหาที่ควบคุมได้ยาก เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานการบริหารจัดการในงานสำคัญหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพอย่างชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการเชิงรุก

ตัวอย่างที่ต้องนำมาเน้นย้ำให้เห็นเปรียบเทียบกันอีกครั้ง เพื่อให้เห็นภาพถึงความล้มเหลวก็คือ การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนและคนกรีดยางไร่ละ 1,500 บาทไม่เกิน 15 ไร่ ที่ผ่านมาหลายเดือน ยังมีการจ่ายเงินไปเพียงไม่กี่ราย ล่าสุดยืนยันว่าจะจ่ายให่หมดภายในสิ้นเดือนนี้ พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว เชื่อว่าไม่มีทางทำได้

อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในภาพใหญ่ในเรื่องการบริหารจัดการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบ้าง นาทีนี้หากนับตั้งแต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปกว่าสองปีแล้ว หากเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นนักการเมือง คงต้องโดน “ซักฟอก” กันอย่างเต็มที่แล้ว เพราะเวลานานพอแล้ว ไม่มีข้ออ้างในเรื่องอื่นแล้ว แต่ต้องพิจารณาจากผลงาน และการบริหารจัดการว่าเป็นอย่างไร

หากยกตัวอย่างเรื่องการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ถ้าพิจารณากันตามความเป็นจริงราคายางพาราตกต่ำมาตลอดนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามา ไม่ใช่ราคาตกต่ำเมื่อวานนี้หรือในวันนี้ ที่ผ่านมาถ้ายังจำกันได้เมื่อราวเกือบปีเดือนก่อน ชาวสวนยางเคยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขมาครั้งหนึ่งแล้ว ตอนนั้นราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท ชาวสวนต้องการให้ขายได้ราคากิโลกรัมละ 80 บาท ในตอนนั้นก็ตื่นตัวแบบนี้แหละ มีการสั่งการให้หน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท นำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ในการราดผิวถนน แม้ว่าจะอ้างว่าราคาสูงขึ้นกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ แต่มีคุณภาพทนทานกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เงียบ

เหมือนกับการ “ตีปี๊บ” เรื่องเมืองยาง มีการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่เมื่อปลายปีที่แล้วช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงภาคใต้ ไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา มีการพูดถึงเมืองยางอีกรอบ บอกว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ สองปี ถึงจะมีการก่อสร้างโรงงานสำเร็จ ก็ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นราคายางจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นก็คือต้นตอของปัญหา นอกเหนือจากผู้บริหารที่ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแล้ว ระบบราชการก็ด้อยประสิทธิภาพไม่แพ้กัน เพราะความจริงที่ประจักษ์ก็คือ ที่ผ่านมายังไม่มีการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง หรือซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถดูซับปริมาณยางส่วนเกินออกมาได้จำนวนมาก แม้ว่าจะไม่ทำให้ราคายางสูงขึ้น แต่หากดำเนินการจริงจัง และทำตามคำสั่งของนายกฯ อย่างรวดเร็วราคาก็คงไม่รูดขนาดนี้

นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องข้าราชการเขี้ยวลากดินที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ยังอยู่ลักษณะ “เกียร์ว่าง” เพื่อรอให้รัฐบาล คสช.พ้นไป รอพวกนักการเมืองเข้ามา ทำให้ต้องมีการใช้มาตรการ “ประเมินผลงาน” กันแบบครบวงจรเริ่มใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายในปีนี้ นั่นก็ย่อมมีส่วนไม่น้อย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการพิสูจน์การบริหารจัดการได้ดีเหมือนกัน

น่าเจ็บปวดก็คือเพิ่งได้เห็นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เรียกประชุม 8 ผู้บริหารบริษัทที่ทำธุรกิจยางมะตอย เพื่อหาทางนำยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนทั่วประเทศไปเมื่อไม่กี่วันก่อน คำถามก็คือ ที่ผ่านมามัวทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่นำมาเป็นส่วนผสม นอกเหนือจากนี้หน่วยงานของทางราชการ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำไมไม่มีการนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนผสม มีเพียงไม่กี่แห่งที่นำไปทำถนนความยางไม่กี่กิโลเมตร กระทรวงศึกษาธิการ ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เคยพูดถึงเรื่องการการใช้ส่วนผสมในการสร้างสนามกีฬาในโรงเรียน รวมไปถึงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา หรือแม้แต่หน่วยงานในกองทัพ ทำไมเพิ่งมาตื่นตัวเอาตอนนี้

สิ่งที่เห็นทำให้ไม่มั่นใจว่านี่คือลักษณะของไฟใหม้ฟาง ค่อยๆ เงียบหายไป แต่อย่างไรก็ดี ในเมื่อเป็นความเดือดร้อนชาวบ้านจะต้องปะทุออกมาเป็นระยะ เพราะมันไม่จบง่าย เรื่องยางก็ยังไม่จบง่ายต้องรอการพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลกันอีกยาว

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ยังมีปัญหาเรื่องข้าวตามมาอีก เพราะเวลานี้เริ่มมีการก่อหวอดกันแล้ว เนื่องจากราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 6 พันบาท ดังนั้นหากประดังเข้ามาพร้อมกับภัยแล้ง ที่มาเร็วก่อนกำหนด ก็น่าเป็นห่วง และเป็นบทพิสูจน์การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าล้มเหลว!!
กำลังโหลดความคิดเห็น