xs
xsm
sm
md
lg

จวกยับร่างฯ กรธ. “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อำนาจล้นฟ้ายากทัดทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถก กมธ.แม่น้ำสองสาย ผลักดันปฏิรูปสอดคล้องรัฐบาล “นิกร-บุญเลิศ” จวกศาลรัฐธรรมนูญยับ สถาปนาอำนาจที่ 5 เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ค้านห้ามละเมิดศาล อ้างเป็นศาลการเมือง “คำนูณ” วิจารณ์อำนาจล้นฟ้ายากทัดทาน ควบคุมจริยธรรมให้ตัวเองและองค์กรอื่นแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้าน “ประสาร” แนะฟังพวกตั้งธงน้อยๆ หยันแค่กลุ่มการเมืองต้นทุนต่ำ เสนอกำหนดสิทธิเสรีภาพ-สิทธิชุมชน และบทปฏิรูปให้ชัด



วันนี้ (10 ก.พ.) ที่ห้อง 307 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อเวลา 10.30 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุมร่วมกันระหว่างประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ประจำ สนช., สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และตัวแทนจากวิป 3 ฝ่าย ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมครั้งแรกจะหารือถึงแนวทางการผลักดันการปฏิรูปร่วมกัน โดยเฉพาะการออกกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะทำการจัดกลุ่มการทำงานร่วมกันระหว่าง กมธ.ของ สนช.16 คณะ และ สปท.12 คณะ เพื่อให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับทางรัฐบาลที่มอบหมายภารกิจการปฏิรูป ให้รองนายกรัฐมนตรี 6 กลุ่ม ประเด็นใดที่เหมือนกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้มาร่วมกันทำงาน เช่น การสร้างความปรองดอง หรือหากประเด็นใดมีความชัดเจนร่วมกันว่าต้องมีบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะส่งเนื้อหาให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาต่อไป

ด้านนายนิกร จำนง สมาชิก สปท.และในฐานะอดีตผู้อำนวยการพรรคชาติไทย ที่เป็นผู้รับผิดชอบคดียุบพรรคชาติไทย แถลงถึงกรณีที่ กรธ.บัญญัติให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยโอนอำนาจที่มีอยู่ของวุฒิสภาในการพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระและให้บังคับใช้กับ ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งยังมีอำนาจวินิจฉัยเองด้วย อีกทั้งนำอำนาจการวินิจฉัยตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาให้ศาลรัฐธรรมนูญ และยังกำหนดคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอายุได้ถึง 75 ปี ในขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆ กำหนดไว้เพียง 70 ปี นอกจากนี้ กรธ.ได้บัญญัติยกระดับให้ศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมที่เคยอยู่ในหมวดศาลหรือองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นหมวดของร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ มีมาตราที่เกี่ยวข้อง 16 มาตรา ทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ได้ยาก ถือว่าเป็นการสถาปนาอำนาจที่ 5 ขึ้นมาอย่างเต็มรูปแบบนอกเหนือจากอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ

“ขอให้ กรธ.พิจารณาทบทวนเรื่องรายละเอียดศาลรัฐธรรมนูญ หากให้มีเนื้อหาเช่นนี้จะเกิดปัญหา เพราะในอดีตมีข้อกังขาของศาลรัฐธรรมนูญ และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการยุบพรรค ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ทั้งที่ศาลฎีกายกฟ้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับฟัง ซึ่งต่อมามีอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งได้พูดถึงกรณีการยุบพรรคว่า เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงใช้ดุลยพินิจไม่สั่งยุบพรรค แต่เพื่อบ้านเมืองเดินหน้าต่อไป จึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จึงอยากทราบว่าบรรทัดฐานการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จะข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง หรือสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น” นายนิกรกล่าว

ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิก สปช.แถลงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ซึ่งตนได้นั่งนับคำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” และ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ในร่างรัฐธรรมนูญ 270 มาตรา ร่วม 130 คำ และองค์อิสระ 39 คำ จึงขอตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” นอกจากนี้ตนยังมีข้อสังเกตอีก 2 ประการ คือ 1. สิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ได้บัญญัติไว้ว่าในกระบวนการพิจารณาคดีต้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนทำคำวินิจฉัยส่วนตนและแถลงในที่ประชุม ปรากฏว่าในร่างแรกของนายมีชัยได้ตัดส่วนดังกล่าวออกไป ทำให้เกิดความกังขาว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดเผยโปร่งใสหรือไม่ และ 2. การออกพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ การเขียนบทบัญญัติห้ามละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมืองไม่ใช่ศาลยุติธรรม การที่บัญญัติไว้จะทำให้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. และ กมธ.ปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองในห้วงวิกฤตของประเทศที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว 4 ครั้งใหญ่ คือกลางปี 2550 (ยุบพรรคไทยรักไทย) ปลายปี 2551 (ยุบ 3 พรรครวมทั้งพรรคพลังประชาชน) กลางปี 2555 (ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550) และต้นปี 2557 (มีผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นตำแหน่งนายกฯ) ยังมีครั้งใหญ่รองลงมาอีกหลายครั้งโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557 อำนาจที่เพิ่มขึ้นจากเดิมของศาลรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงถูกจับตาจากทุกฝ่ายเป็นธรรมดา

ทั้งนี้ อำนาจในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในมุมมองของตน ได้แก่ 1. อำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ - มาตรา 205 (2) เป็นอำนาจที่เขียนไว้สั้นๆ แต่กว้างขวางมาก จุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งวิกฤตทุกประเภท 2. อำนาจวินิจฉัยกรณีไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหากกรณีนั้นไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับใช้ได้ - มาตรา 207 เป็นอำนาจกว้างขวางมาก พอ ๆ กับข้อ 1 เพราะเดิมเคยเป็นบทบัญญัติมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่อยู่ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ คราวนี้โยกจากบททั่วไปมาอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญที่แยกออกมาจากหมวดศาลเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน เมื่อรวมอำนาจข้อ 2 เข้ากับข้อ 1 จะถือเป็นอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดที่ครอบคลุมทุกปัญหา นัยว่าจะเป็นการยับยั้งวิกฤตได้ทุกระดับโดยไม่ต้องพึ่งการรัฐประหาร

3. อำนาจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านขั้นตอนรัฐสภาที่ยากมากแล้วมีลักษณะ 3 ประการนี้หรือไม่ (1) เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ (2) เรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ (3) เรื่องที่ทำให้ศาลและองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ ถ้าเข้าลักษณะประการใดประการหนึ่งใน 3 ประการนี้แล้วทำไม่ได้โดยลำพังรัฐสภาต้องไปประชามติก่อน - มาตรา 253 (8) (9) เป็นอำนาจที่ไม่เคยมีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญเคยมีมาก่อน ถ้าจะมีข้อสังเกตก็คือใน (2) และ (3) เป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตนเองด้วย

4. อำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ ส.ส., ส.ว. และ ครม. จะต้องปฏิบัติ และการวางมาตรฐานว่าการณ์ใดจึงจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง - มาตรา 215 และ 265 เป็นอำนาจที่สำคัญมาก เดิมรัฐธรรมนูญปี 50 ให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมกันเองตามเงื่อนไขบังคับขั้นต่ำที่รัฐธรรมนูญวางไว้ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้กำกับมาตรฐาน

5. อำนาจวินิจฉัยวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง ส.ส., ส.ว., รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี - มาตรา 231 เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นส่วนหนึ่งในอำนาจถอดถอนของวุฒิสภา เท่าที่อ่านมาหลายรอบ อำนาจที่เพิ่มขึ้นก็มีเพียงเท่านี้ อาจจะยุบรวมข้อ 4 กับ 5 เข้าด้วยกันก็ได้ ก็พูดได้ว่าเพิ่มขึ้นแค่ 4 กลุ่มไม่มาก แต่บังเอิญเบิ้มๆ ทั้งนั้น

"นอกจากนั้นเป็นอำนาจเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น วินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรี เพียงแต่คุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้น ก็ทำให้อำนาจวินิจฉัยที่มีอยู่แต่เดิมมีความสำคัญต่อการเมืองยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก ต้องพูดอีกด้านด้วยว่าอำนาจมากเช่นนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกควบคุมอย่างไร ตอบได้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกควบคุมและดำเนินคดีได้เหมือนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตำแหน่งการเมืองอื่นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย - มาตรา 231 (1) (2)”

ศาลรัฐธรรมนูญสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองในห้วงวิกฤตของประเทศที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว 5 ครั้งใหญ่ คือกลางปี 2550 (ยุบพรรคไทยรัก...

Posted by Kamnoon Sidhisamarn on Tuesday, February 9, 2016


ส่วนนายประสาร มฤคพิทักษ์ แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่า มีความเห็นว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะใส่ใจความเห็นของผู้วิจารณ์โดยบริสุทธิ์ใจ ส่วนผู้วิจารณ์บางคนหรือบางกลุ่มนั้น ฟังน้อยๆ หน่อยก็ดี เพราะพวกนี้ตั้งธงไว้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เขียนมาตรา 1 ด้วยซ้ำไปว่าจะต้องคว่ำสถานเดียว โดยแสร้งบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถอยหลังเข้าคลอง เป็นฉบับห่วยแตก

ทั้งนี้ คนพวกนี้เป็นกลุ่มการเมืองต้นทุนต่ำทางความเชื่อถือในสังคม แต่จะมีเสียงดังในสื่อ ความจริงก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้อมคอกพวกเขาไว้อย่างแน่นหนา จะทำโครงการแบบจำนำข้าวพินาศไป 600,000 ล้านบาทไม่ได้ คนทำบาปไว้ยากจะมีอำนาจได้ ใครมีอำนาจก็ยากจะโยกงบประมาณลงพื้นที่ตัวเองได้ ยากที่จะทำโครงการประชานิยมล้นเกินได้ ถ้าโกงก็ยากที่จะพ้นไปจากการตรวจสอบได้ นี่คือสาเหตุแท้จริงที่พวกนี้ออกมาต้านรัฐธรรมนูญ

"อย่างไรก็ตาม มี 2 ประเด็นที่เห็นว่าควรปรับแก้ไขดังนี้ 1. เพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นอกอุ่นใจในสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน จึงควรกำหนดให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ แม้ กรธ. จะอธิบายว่าอะไรที่ไม่ได้เขียนไว้ ให้ถือว่าประชาชนมีสิทธิและไปกำหนดให้รัฐต้องทำหน้าที่ก็ตาม แต่ก็เป็นสภาพนามธรรมที่ยากจะจับต้องได้ ประชาชนขาดหลักประกันในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยเฉพาะที่เป็นนโยบายสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องกับดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ธาตุและพลังงาน

2. บทบัญญัติเรื่องการปฏิรูปเบาบางไปหน่อย อย่าลืมว่าก่อนการรัฐประหาร 22 พค.57 นั้น ปรารถนาที่แท้จริงของประชาชนเรือนล้านคือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่โฉมหน้าใหม่ที่พ้นไปจากการเมืองเก่า จึงควรบัญญัติการปฏิรูปด้านหลักต่างๆ เช่นขจัดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปการแก้ปัญหาทุจริต การบริหารราชการแผ่นดิน การกระจายอำนาจ การศึกษาและสังคม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ต้องกำหนดให้เห็นภาพรูปธรรมชัดเจนกว่านี้ เพราะการปฏิรูปเป็นงานต่อเนื่อง ต้องใช้เวลา และไม่เสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ จึงควรบัญญัติให้กระจ่างถึงขนาดที่รัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาลต้องถือว่าเป็นภาระกิจปฏิบัติ

ส่วนประเด็นโต้แย้งเรื่องจำนวนผู้มีสิทธิกับจำนวนผู้ใช้สิทธิในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังค้างคาอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2558 นั้น นายประสารเห็นว่า ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นปัญหาถกเถียงกันอีก รัฐบาลควรเสนอให้ สนช. แก้ไขให้แจ่มชัดให้สิ้นกระแสความไปเลย.


กำลังโหลดความคิดเห็น