xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยัน รธน.เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญฟันนายกฯ-รมต.-ส.ส.-ส.ว.ผิดจริยธรรมร้ายแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ  (แฟ้มภาพ)
“สปท.คำนูณ” ชี้ รธน.ใหม่เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปมนายกฯ-ครม.-ส.ส.-ส.ว.ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช.ชง ยันเรื่องใหญ่ แถมให้อำนาจวางมาตรฐานใน 1 ปี จี้ กรธ.พูดตรงไปตรงมาจะเกิดการเรียนรู้เต็มที่

วันนี้ (5 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สภาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้มีอำนาจเพิ่มแค่วินิจฉัยกรณีที่องค์กรอิสระฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่ กรธ.ชี้แจงทั้งในสภาและนอกสภามา 2 วันซ้อนเท่านั้น แต่มีอำนาจวินิจฉัยกรณีที่นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. และ ฯลฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย โดยวินิจฉัยจากสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.

นายคำนูณกล่าวต่อว่า อ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 231 กี่ครั้งกี่ครั้งก็ไม่อาจเข้าใจอย่างที่ กรธ.ชี้แจงได้ เพราะในมาตรานี้ระบุไว้ชัดเจนถึง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต...” ด้วย และระบุไว้ก่อนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเสียอีก และเมื่อไปดูบทนิยามศัพท์ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 4 คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. และตำแหน่งอื่นๆ อีก 4 กลุ่มใหญ่

“เรื่องนี้เป็นหลักการใหม่ล่าสุด และเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี 'บุคคล' ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่ใช่เฉพาะวินิจฉัยเฉพาะ 'กรณี' ที่เกี่ยวเนื่องกับความถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้น” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ควรเข้าใจด้วยว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม” และมาตรฐานของ “การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” มีลักษณะอย่างไร ใครเป็นผู้กำหนดจากเนื้อหามาตรา 215 และ 265 ให้ความกระจ่างว่าศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระเป็นผู้ร่วมกันกำหนดให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญใช้บังคับ นี่ก็เป็นหลักการใหม่ และใหญ่มากอีกเช่นกัน

นายคำนูณกล่าวต่ออีกว่า หากอ่านมาตรา 215 ผิวเผินแค่วรรคแรก อาจเข้าใจว่าเป็นเพียงมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเท่านั้น หามิได้ วรรคสองระบุไว้ชัดเจนว่าให้ใช้บังคับแก่ส.ส., ส.ว. และ ครม.ด้วย แม้จะกำหนดไว้ว่าในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้รับฟังความคิดเห็นส.ส., ส.ว. และ ครม. แต่เมื่อบทเฉพาะกาลมาตรา 265 กำหนดไว้ให้จัดทำให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ไม่มี ส.ส.และ ส.ว.ตัวจริงที่จะต้องอยู่ในกรอบมาตรฐานนี้มาให้ความเห็น มีแต่ สนช.ที่ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น ส่วน ครม.ก็จะเป็น ครม.ของ คสช.ชุดนี้

“สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ร่วมกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (และตำแหน่งในองค์กรอิสระ) และเป็นผู้วินิจฉัยสูงสุดว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (และตำแหน่งในองค์กรอิสระ) คนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ยกเว้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาเสียเอง องค์กรวินิจฉัยก็จะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะเข้ามาหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยเฉพาะ ส.ส., ส.ว. และ ครม. โดยเงื่อนไขด้านเวลาที่วางไว้จะไม่มีโอกาสมาร่วมให้ความคิดเห็นเลยนอกจากนั้น แม้อำนาจอื่นที่เคยเป็นอำนาจแต่เดิมของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อน เช่น อำนาจวินิจฉัยว่า ส.ส., ส.ว., รัฐมนตรี คนใดขาดคุณสมบัติหรือไม่ตามที่ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อกันร้องมา ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าอำนาจเท่าเดิม

“เพราะมีการไปเพิ่มคุณสมบัติของรัฐมนตรีใน 2 ประเด็นสำคัญในมาตรา 155 ว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”, “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” โยงมาถึง “มาตรฐานทางจริยธรรม” อีกเช่นกัน ถ้า กรธ.จะชี้แจงถึงเหตุผลในประเด็นการกำหนดหลักการใหม่ที่ใหญ่มากเหล่านี้อย่างตรงประเด็นตรงไปตรงมา น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเต็มที่” นายคำนูณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น